เตรียมรับมือสรรพากรตรวจเข้มภาษีหลังปรับโครงจัดเก็บ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์

       นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปีครั้งที่ 18 ภายใต้ชื่อ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ในหัวข้อ ‘การเตรียมความพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงมาตรการจัดเก็บภาษีในระดับสากล’ ว่า ปัจจุบันมาตรการด้านภาษีอากรทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หลายประเทศมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บภาษีของตนให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกและข้อกฎหมาย 

 

        สำหรับประเด็นที่หน่วยงานจัดเก็บภาษีอากรให้ความสนใจ ได้แก่ การปรับโครงสร้างทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การย้ายฐานภาษีของบริษัทข้ามชาติจากประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราสูงไปยังประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำ การทำธุรกรรมเกี่ยวกับการตั้งราคาโอน การจัดเก็บภาษีสำหรับธุรกรรมดิจิทัล และการเปิดเผยข้อมูล ตลอดจนการตรวจสอบภาษีอากร ซึ่งกรมสรรพากรของไทยก็ได้มีการติดตามและดำเนินการในเรื่องต่างๆ เป็นระยะเช่นกัน

 

        “ผู้เสียภาษีต้องเตรียมตัวให้พร้อม หากกรมสรรพากร จะมีการกำหนดกฎหมายและกฎระเบียบใหม่ๆ รวมทั้งความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงแนววิธีการตีความ และนำวิธีการตรวจสอบที่เข้มงวดและเคร่งครัดมาใช้บังคับ เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงไป”

 

        สำหรับมาตรการภาษีที่มีการเปลี่ยนแปลงทั่วโลก และอาจส่งผลกระทบถึงภาคธุรกิจไทยนั้น ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบโครงสร้างทางธุรกิจของบริษัทข้ามชาติ เพราะปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติหลายรายถูกตั้งคำถามถึง จรรยาบรรณ และการเสียภาษีที่ถูกต้องและครบถ้วน ซึ่งกรณีดังกล่าว ทางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ (G20) และองค์การเพื่อความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Cooperation and Development: OECD) ได้มีการริเริ่มมาตรการป้องกันการวางแผนทางภาษีที่มีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไร เพื่อไปเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่า (Base Erosion and Profit Shifting: BEPS) 

 

        ซึ่งหนึ่งในแผนปฏิบัติการของ OECD คือ การตั้งราคาโอน โดยนำเสนอมาตรการ three-tiered approach ซึ่งเป็นการเปิดเผยข้อมูลการตั้งราคาโอนระหว่างกลุ่มบริษัทในเครือทั่วโลกมาใช้ ซึ่งบริษัทชั้นนำของไทยที่ได้มีการลงทุนในประเทศที่มีการนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้บังคับจะต้องจัดทำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานภาษีในประเทศนั้นด้วย 

 

        แม้ปัจจุบันกรมสรรพากรไทยยังไม่ได้มีแผนที่จะนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในอนาคตอันใกล้ แต่ก็อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ร่างกฎหมายการตั้งราคาโอนฉบับใหม่ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดการเปิดเผยข้อมูลสำหรับธุรกรรมของบริษัทในเครือต่อกรมสรรพากรเช่นกัน นอกจากนี้ การที่หน่วยงานรัฐบาลและองค์การระหว่างประเทศกำลังร่วมมือกันเพื่อหามาตรการในการต่อต้านการกระทำที่มิชอบในการวางแผนเพื่อลดภาระภาษี 

 

        ดังนั้น  จึงจำเป็นที่ผู้เสียภาษีที่ประสงค์จะวางแผนภาษี จักต้องพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ในทางการค้า (Commercial) และเนื้อหาการดำเนินธุรกิจ (Substance) เป็นสำคัญเพื่อให้การวางแผนภาษีมีความโปร่งใสมากขึ้น 

 

        นอกจากข้อบังคับในการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทในเครือแล้ว กรมสรรพากรยังได้เพิ่มมาตรการการตรวจสอบโดยวิธีการออกหมายเรียก (Summons Audit) มากขึ้น ซึ่งถือเป็นวิธีการตรวจสอบภาษีที่เข้มงวดกว่าการตรวจสภาพกิจการ (Business Operation Visit) และการตรวจเฉพาะประเด็น (Specific Tax Issue Audit) ที่เคยใช้อยู่เดิม เนื่องจากต้องการเน้นการตรวจสอบแบบเข้มข้น โดยกรมสรรพากรคาดหวังว่า มาตรการดังกล่าว จะช่วยทำให้การตรวจสอบมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งมาตรการนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษีหากถูกประเมินภายใต้หมายเรียกตรวจสอบ เนื่องจากจะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น

 

        “มาตรการนำหมายเรียกการตรวจสอบภาษี ถือเป็นรูปแบบการตรวจที่เข้มงวดที่สุดของกรมสรรพากร ดังนั้น ผู้เสียภาษีจะต้องเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อมสำหรับการตรวจสอบ เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงในการเสียภาษีที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยมีแนวโน้มว่า มาตรการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้มากขึ้น เพราะสรรพากรมีการตั้งหน่วยงานที่ดูแลการตรวจสอบโดยวิธีการออกหมายเรียกเป็นการเฉพาะ”      

 

        ทั้งนี้ ยังมีอีกประเด็นที่อยู่ในกระแสเมกะเทรนด์ของโลก คือ ความก้าวหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยี หลังจากที่ธุรกิจก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิทัล มีการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์ การทำธุรกรรมการชำระเงินผ่านอินเทอร์เน็ต และมือถือขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อทางการจัดเก็บภาษีในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัจจุบัน OECD เองอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการก้าวสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ

 

        ส่วนไทยหลังจากรัฐบาลประกาศนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล กรณีดังกล่าวส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิตและธุรกิจในวงกว้าง ล่าสุดสถาบันการเงินก็พยายามนำเสนอการบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ (FinTech) ที่ถูกพัฒนาและผลักดันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสของระบบการเงินของประเทศ ขณะที่กรมสรรพากรไทยก็อยู่ระหว่างพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax filing) เพื่อให้สอดคล้องกับธุรกรรมดิจิทัลที่มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว  และให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

 

        ดังนั้น ผู้เสียภาษีควรเตรียมตัวให้พร้อม ศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวบทกฎหมายและการตีความของกรมสรรพากรที่เกี่ยวกับธุรกรรมดิจิทัลเป็นพื้นฐาน เพื่อใช้ประเมินและจัดการกับผลกระทบที่มีต่อการปฏิบัติตามกฎหมายภาษีในอนาคตด้วยเช่นกัน 

 

 

ขอขอบคุณที่มา : การเมือง กรุงเทพธุรกิจ