สำหรับผู้เริ่มต้นธุรกิจแล้ว เรื่องภาษีถือเป็นอีกหนึ่งที่สร้างความหนักใจให้กับการทำธุรกิจ เพราะมีความยุ่งยาก สำหรับเรื่องภาษีนั้น มีความเข้าใจผิดอยู่ 2 เรื่อง คือ
1. เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่มักจะหาคำตอบว่า เราจ่ายภาษีไปทำไม ซึ่งขอย้ำอีกครั้งว่า ความหมายของภาษีก็คือ สิ่งที่รัฐเรียกเก็บจากประชาชนโดยที่ไม่มีผลตอบแทน ดังนั้นไม่ต้องหาคำตอบครับ เพราะสิ่งที่เราจ่ายไปนั้นไม่มีผลตอบแทน
2. ภาษีเป็นเรื่องยาก ดังนั้นเราควรจ้างคนอื่นมาทำก็ได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ถูกต้อง แต่ประเด็นหนึ่งที่สำคัญกว่านั้น คือ เจ้าของธุรกิจต้องรู้เรื่องภาษีในส่วนที่จำเป็นต่อธุรกิจ เพราะมันถือเป้นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบของเรา
ก่อนอื่นเรามารู้จักสิ่งที่เรียกว่า รูปแบบธุรกิจกันก่อนครับ ว่าธุรกิจของเรานั้นเป็นอะไร ระหว่าง บุคคลธรรมดา หรือ นิติบุคคล เริ่มที่ “บุคคลธรรมดา” กันก่อน สำหรับบุคคลธรรมดานั้นจะประกอบด้วย 3 ประเภท ได้แก่ เจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ และ คณะบุคคล ซึ่งมีความแตกต่างกันดังนี้
เจ้าของคนเดียว
คำว่า เจ้าของคนเดียว คือ การธุรกิจด้วยตัวเราคนเดียว เมื่อได้กำไรหรือขาดทุนก็จะมีผลต่อตัวเราเป็นคนเดียว ซึ่งข้อดีก็คือความเรียบง่ายไม่ซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น คนค้าขายทั่วไปที่เราพบเห็นกันนี่แหละ
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
ห้างหุ้นส่วนสามัญ จะมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาร่วมลงทุนและดำเนินกิจการร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันผลกำไรจากการทำธุรกิจและรับผิดชอบหนี้สินร่วมกัน ซึ่ง ห้างหุ้นส่วนสามัญแบบที่ไม่ได้จดทะเบียน จะถือว่าเป็นบุคคลธรรมดา
คณะบุคคล
เดิมที คณะบุคคล จะมีลักษณะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญแต่ต่างกันตรงที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแบ่งปันผลกำไรที่ได้ร่วมกัน และได้มีการกำหนดนิยามใหม่เมื่อปลายปี 2557 ที่ผ่านมาว่า คณะบุคคล คือ บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงกระทําการที่มีเงินได้พึงประเมินร่วมกันอันมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน รูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคลนั้นไม่เหมาะแก่การใช้งานอีกต่อไป เนื่องจากเหตุผลของการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อน
ตามมาด้วยรูปแบบต่อมา นั้นคือ “นิติบุคคล” ที่ประกอบด้วย 3 กลุ่ม คือ ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ บริษัทจำกัด
ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัด
สำหรับห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน จะมีลักษณะเหมือนกับห้างหุ้นส่วนสามัญ แต่มีการจดทะเบียนขึ้นมาเป็นนิติบุคคล ส่วน ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีข้อแตกต่างตรงที่ จะมีหุ้นส่วนบางคนเรียกว่า หุ้นส่วนจำกัด ถูกจำกัดหน้าที่ความรับผิดชอบในด้านหนี้สินของกิจการไว้
บริษัทจำกัด
สำหรับ บริษัทจำกัด เป็นรูปแบบของการดำเนินงานที่มีการจัดตั้งโดยคนตั้งแต่ 3 คนขึ้น และไปใช้การวิธีการเข้าร่วมลงทุนโดยการกำหนดทุนออกเป็นหุ้นที่มีมูลค่าเท่าๆกัน และเราจะเรียกคนเหล่านั้นว่า “ผู้ถือหุ้น” โดยมีความรับผิดชอบเท่ากับมูลค่าของหุ้นที่ซื้อไว้เท่านั้น
ต่อมาเมื่อเลือกรูปแบบกิจการได้แล้ว ก็จะมาถึงเรื่องของพระเอกอย่าง “ภาษี” กันบ้าง ซึ่งหลักๆ แล้วเราสามารถแบ่งประเภทของภาษีออกเป็น 2 ประเภท คือ ภาษีทางตรง และ ภาษีทางอ้อม
ภาษีทางตรง
ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่มีการเรียกเก็บเงินจากเราโดยตรงและไม่สามารถผลักภาระให้กับคนอื่นได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล
โดยภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า เป็นเป็นรอบปีตามปฎิทิน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของทุกๆ ปี ซึ่งผู้ที่มีรายได้จากรูปแบบธุรกิจบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องไปชำระภาษีให้พร้อมเพียงกัน
ส่วนภาษีเงินได้นิติบุคคล จะมีการจัดเก็บในอัตราคงที่ และมีการลดหย่อนอัตราภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีทุนชำระไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้ไม่เกิน 30 ล้าน
ภาษีทางอ้อม
ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เราสามารถผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภคได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ซึ่งมีหลักการจัดเก็บที่แตกต่างกันไป เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเรียกเก็บจากธุรกิจที่ขายสินค้าและให้บริการ ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะจะเรียกเก็บสำหรับกิจการเฉพาะ เช่น ธนาคาร หรือ หลักทรัพย์ต่างๆ ส่วนอากรแสตมป์จะเรียกเก็บจากการทำสัญญา
ที่มา : AOMMONEY
สนใจบริการด้านภาษีกับ บริษัท ธรรมนิติการบัญชีและภาษีอากร จำกัด www.dha.co.th
โทร: 02-578-8080 ต่อ 228, 229