วิเคราะห์ปัญหาหน่วยงานของรัฐกับการเป็นผู้ประกอบการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตอนที่ 1)

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีทางอ้อมที่ใช้บังคับในประเทศไทยมามากกว่า 25 ปีและโดยที่ภาษีมูลค่าเพิ่มได้จัดเก็บจากการขายสินค้าและบริการเกือบทุกกรณี (ยกเว้นบางกรณีที่กฎหมายกำหนดไว้ ) ในอัตราที่ไม่สูง (ร้อยละ 7.0) ทำให้กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้เป็นอันดับหนึ่ง เปรียบเทียบกับภาษีอากรประเภทอื่นๆ ตามประมวลรัษฎากร ตัวอย่างเช่น

ผลการจัดเก็บภาษีสรรพากรปีงบประมาณ2558เปรียบเทียบกับปีงบประมาณ 2557

 

ถึงแม้ว่าประเทศไทยมีการใช้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานและกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มได้มีการปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมมาโดยตลอดเพื่อมุ่งเน้นให้เป็นระบบภาษีอากรมีความทันสมัย ไม่เป็นอุปสรรคต่อการค้าการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการเสียภาษีเป็นสำคัญ เช่น การกำหนดข้อความในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร การกำหนดค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับกิจการประกันภัยต่อ  เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี ในการแก้ไขกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มในหลายๆ กรณี ก็ยังพบว่า กฎหมายบางมาตรายังคงต้องได้รับการศึกษาและหาแนวทางแก้ไขโดยเฉพาะกรณีความไม่ชัดเจนของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับบทนิยามความหมายของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีนิยามความหมายของคำว่า “ธุรกิจ” หรือ “วิชาชีพ” ไว้เป็นการเฉพาะทำให้เกิดปัญหาในการตีความหมายของคำดังกล่าวแตกต่างกันระหว่างผู้ใช้กฎหมายและผู้บังคับใช้กฎหมาย

 

บทความนี้จึงมีวัตถุประสงค์ในการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิยามความหมายของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ในกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งเข้าถึงประเด็นปัญหาของหน่วยงานของรัฐที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการว่าเข้าองค์ประกอบของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่ทั้งนี้ เพื่อลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี รวมทั้งเพื่อสร้างความสมัครใจในการเสียภาษีของผู้เสียภาษี

 

1. องค์ประกอบของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

บุคคลที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็น “ผู้ประกอบการ” ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นบุคคลตามมาตรา 82 และมาตรา 77/1 (1) - (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

-มาตรา 82แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ให้บุคคลดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามบทบัญญัติในหมวดนี้ (1) ผู้ประกอบการ... ”

- มาตรา 77/1 แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติว่า “ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น

 

(5) “ผู้ประกอบการ” หมายความว่าบุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์หรือได้รับค่าตอบแทนหรือไม่และไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่”

 

จากนิยามความหมายของคำว่า “ผู้ประกอบการ” ตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร สามารถแยกพิจารณาได้ 3 องค์ประกอบ ดังนี้

 

(1) ผู้ประกอบการต้องเป็น “บุคคล”

มาตรา 77/1(1) แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดว่า “บุคคล” หมายความว่า “บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลหรือนิติบุคคล” ซึ่งมาตรา 77/1(2) (3) และ(4) แห่งประมวลรัษฎากร ได้นิยามความหมายของคำว่า “บุคคลธรรมดา” “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” และ “นิติบุคคล” ไว้ว่าคำว่า “บุคคลธรรมดา” หมายความรวมถึง “กองมรดก” คำว่า “คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล” หมายความว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุนหรือมูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคลและคำว่า “นิติบุคคล” หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 สหกรณ์และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล”

 

จากบทบัญญัติข้างต้น คำว่า “นิติบุคคล” ตามมาตรา 77/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร มีความหมายกว้างกว่าคำว่า “บริษัทหรือหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ คำว่า “นิติบุคคล” ตามมาตรา 77/1(4) แห่งประมวลรัษฎากร หมายความถึง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร สหกรณ์และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล เช่น กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นต้น กรณีดังกล่าวจึงส่งผลให้นิติบุคคลบางประเภทที่มีรายได้จากการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร แต่อาจมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร เช่น

 

สำนักงาน ส. เป็นองค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากร มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จึงไม่เข้าลักษณะเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร สำนักงาน ส. จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายได้จากการจำหน่ายสลากด้วยเครื่องจำหน่ายสลาก อย่างไรก็ตาม เมื่อสำนักงาน ส. ให้บริการแจ้งผลการตรวจสอบรางวัลผ่านช่องทางระบบ SMS และให้ใช้พื้นที่โฆษณาบนสลาก เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(10) และมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร

 

(2) ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

 

(2.1) พิจารณาจากนิยามความหมายทั่วไป

ประมวลรัษฎากรมิได้ให้ความหมายของคำว่า “ธุรกิจ” และ “วิชาชีพ” ไว้เป็นการเฉพาะ จึงทำให้เกิดปัญหาในการตีความหมายของคำดังกล่าว เพราะหากการประกอบกิจการใดไม่เข้าลักษณะเป็นธุรกิจหรือวิชาชีพ ก็ไม่ถือว่าเป็น “ผู้ประกอบการ” ตามาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด

 

โดยปกติ ในการพิจารณาความหมายของคำดังกล่าว นักวิชาการ หรือ กูรูทางภาษีอากรบางท่าน เห็นว่า กรณีประมวลรัษฎากรไม่มีนิยามความหมายไว้เป็นการเฉพะไว้ ผู้ศึกษาสามารถอ้างอิงความหมายของคำดังกล่าวได้จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (พจนานุกรมฯ) โดยคำว่า “ธุรกิจ” หมายถึง “การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย หรือกิจการอย่างอื่นที่สำคัญและที่ไม่ใช่ราชการ” และคำว่า “วิชาชีพ” หมายถึง “อาชีพที่ต้องอาศัยวิชาความรู้ความชำนาญ”  และ “วิชาที่จะนำไปใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น วิชาแพทย์ วิชาช่างไม้ วิชาช่างยนต์”

 

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า พจนานุกรมฯเป็นการอธิบายศัพท์ภาษาไทยที่ทางราชการจัดทำขึ้นเพื่อให้การเขียน การอ่านหนังสือไทย ตลอดจนความหมายของคำต่างๆ ให้มีมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งการนำความหมายของคำต่างๆ ในพจนานุกรมฯ มาใช้นั้น ผู้ใช้ต้องศึกษาเจตนารมณ์หรือวัตถุประสงค์ของเรื่องต่างๆ

หรือกฎหมายแต่ละฉบับเป็นสำคัญมิฉะนั้น จะทำให้การทำความเข้าใจเนื้อหาของเรื่องหรือกฎหมายดังกล่าวคลาดเคลื่อนไปได้ เช่น กรณีกฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่ม มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีอากรตามหลักความเป็นธรรมและความเสมอภาคเป็นสำคัญ ดังเห็นได้จากมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากรที่กำหนดให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บจากการกระทำการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ ซึ่งคำว่า “ผู้ประกอบการ” ตามที่กล่าวไว้แล้วใน (1) ข้างต้น มีความหมายกว้าง โดยให้หมายถึง บุคคลต่างๆ รวมทั้งองค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย   ดังนั้น ผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือเอกชน ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หากกระทำการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระหรือประจำ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะมีกำไรหรือขาดทุน ย่อมอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่นเดียวกับภาคเอกชนเช่น หน่วยงานราชการบางแห่งมีรายได้จากประกอบกิจการขายน้ำมัน หรือให้บริการเช่าห้องพัก  ด้วย เป็นต้น

 

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาผู้เขียนพบว่า หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สำนักงานฯ) เป็นต้น ได้ถือตามความหมายที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฯ ในการพิจารณาการประกอบกิจการของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนราชการว่าเข้าลักษณะเป็นการประกอบ “ธุรกิจ หรือ วิชาชีพ”และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ รายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป 

 

อย่างไรก็ดี จากการศึกษาผู้เขียนพบว่า หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงาน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สำนักงานฯ) เป็นต้น ได้ถือตามความหมายที่กำหนดไว้ในพจนานุกรมฯ ในการพิจารณาการประกอบกิจการของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นส่วนราชการว่าเข้าลักษณะเป็นการประกอบ “ธุรกิจ หรือ วิชาชีพ”และอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ รายละเอียดจะได้กล่าวต่อไป 

 

(2.2) พิจารณาจากข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ

ตามที่กล่าวข้างต้น ประมวลรัษฎากรไม่มีนิยามความหมายของคำว่า “ธุรกิจ” หรือ “วิชาชีพ” เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าผู้ประกอบการใดประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในลักษณะที่เป็นปกติธุระหรือประจำหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงของการประกอบการเป็นรายกรณีเป็นสำคัญ กล่าวคือ หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ประกอบการมีการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการเป็นปกติธุระ ประจำหรือสม่ำเสมอ กรณีถือเป็นการประกอบกิจการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพโดยผู้ประกอบการ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประกอบการพิจารณา ดังนี้ 

 

(2.2.1) กรณีการประกอบกิจการที่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ

 

(ก) มูลนิธิ ส. ของสำนักงาน ท. ประกอบกิจการรับจ้างทำการสำรวจและวิจัยให้กับสำนักงาน ท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ โดยไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (1) (ฎ) แห่งประมวลรัษฎากรประกอบกับประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 12) ฯ ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534 ดังนั้น มูลนิธิ ส. จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งนี้ ตามมาตรา 77/1(5) มาตรา 77/2(1) และมาตรา 82(1) แห่งประมวลรัษฎากร 

 

(ข) กรณีสถาบัน ว. จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบัน ว. (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2551 ได้มีการให้บริการ 2 รูปแบบ คือ 

 

1. การให้บริการเกี่ยวกับแสงซินโครตรอนในการสนับสนุนงานวิจัย โดยต้องมีการเสนอโครงการเพื่อขอใช้ “เวลาแสง” ซึ่งผู้ขอรับการวิจัยต้องเป็นบุคลากรสังกัดหน่วยงานที่มีบันทึกความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันฯ การให้บริการในรูปแบบนี้ไม่มีการเก็บเงินค่าบริการ

 

2. การให้บริการเกี่ยวกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สำหรับวิจัยเชิงพาณิชย์ ภาคอุตสาหกรรม การให้บริการในรูปแบบนี้มีการเก็บเงินค่าบริการ

 

การให้บริการทั้ง 2 รูปแบบดังกล่าวของสถาบัน ว. เข้าลักษณะเป็นการให้บริการอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1 (10) และมาตรา 77/2แห่งประมวลรัษฎากร

 

(2.2.2) กรณีการประกอบกิจการที่ไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเช่น

 

(ก) องค์กร S. มีสถานะเป็นสมาคมที่ไม่หากำไรและเป็นนิติบุคคลจัดตั้งภายใต้กฎหมายฝรั่งเศส องค์กร S. มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานเพื่อการให้ความช่วยเหลือส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พักอาศัยแก่ผู้อพยพจากประเทศพม่าในศูนย์พักพิงบ้านแม่หละ รวมถึงการช่วยเหลือในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือการช่วยเหลือฟื้นฟูโดยไม่หวังผลกำไรใดๆ ในเรื่องเกี่ยวกับน้ำและสุขาภิบาล ความมั่นคงด้านอาหาร และการฟื้นฟูในส่วนของที่พักอาศัยชั่วคราว โดยองค์กร S. ได้รับเงินบริจาคเพื่อใช้ในการดำเนินงานโดยไม่มีเงื่อนไขต่างตอบแทนจาก European Union และ Swiss Agency for Development and Cooperation SDC การดำเนินงานขององค์กร S. จึงไม่เข้าลักษณะเป็นการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพและไม่ถือเป็นผู้ประกอบการตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร องค์กร S. จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/2(1) แห่งประมวลรัษฎากร 

 

(ข) ชมรม ฟ. มีฐานะเป็น "คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล" ตามมาตรา77/1(3) แห่งประมวลรัษฎากร ชมรม ฟ. ได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเพื่อให้ความรู้ในเชิงวิชาการและได้กระทำขึ้นในโอกาสที่สำคัญพิเศษเท่านั้น มิได้กระทำเพื่อหาผลกำไรหรือทำเป็นปกติธุระจึงไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1 (5) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น ชมรม ฟ. จึงไม่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มและไม่มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่อย่างใด

 

(ค) กรณีพันตำรวจโท ส. ได้รับเงินจากการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จำนวน 2,000,000 บาท เข้าลักษณะเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร และเข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1(10) แห่งประมวลรัษฎากรพันตำรวจโท ส. มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร แต่หากเป็นการกระทำเพียงครั้งเดียวเพื่อช่วยไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทให้เสร็จสิ้นไป มิได้กระทำเพื่อหาผลกำไรหรือทำเป็นปกติธุระ ก็ไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

(ง) สำนักงาน ก. เป็นส่วนราชการที่มีฐานะเทียบเท่ากรม สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้จัดงานและจำหน่ายบัตรกาลาดินเนอร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยเนื่องจากสำนักงาน ก. มิได้กระทำเพื่อหาผลกำไรหรือทำเป็นปกติธุระ จึงไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ตามมาตรา 77/1(5) แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด

 

จากการพิจารณาตาม 2.2.1 และ 2.2.2 เห็นได้ว่า หากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพียงครั้งเดียวหรือเป็นครั้งคราว การประกอบกิจการดังกล่าวจะเข้าลักษณะเป็นปกติธุระหรือวิชาชีพ ผู้ประกอบการจึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนด

 

(3) ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและเข้าองค์ประกอบตาม (1) และ (2) ข้างต้น ไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่ ผู้ประกอบการนั้นมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด

 

ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 81/1 แห่งประมวลรัษฎากร (เกิน1.8 ล้านบาท)  ผู้ประกอบการดังกล่าวมีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีมูลค่าของฐานภาษีในการประกอบกิจการเกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะส่วนที่เกินมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อมภายในวันที่15ของเดือนถัดไป ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการโดยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ที่มา : บริษัท ฝึกอบรมและสัมมนาธรรมนิติ จำกัด