แก้กฎหมายยกเว้นภาษีรับโอนที่ดิน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรได้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร กรณีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อบุตรหนึ่งคนไม่ต้องเสียภาษี

 

ทั้งนี้ เดิมกฎหมายกำหนดไว้ไม่ชัดเจน โดยระบุเพียงว่าการโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทน ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทไม่ต้องเสียภาษี ทำให้ไม่มีความชัดเจนเรื่องของจำนวนบุตรที่ได้รับโอนและไม่ต้องเสียภาษี เกิดความคลุมเครือ จึงแก้ไขกฎหมาย ให้ชัดเจนขึ้นและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา

 

"การแก้กฎหมายดังกล่าว ทำ ให้เกิดความชัดเจนขึ้น หากครอบครัวหนึ่งมีลูก 3 คน พ่อแม่โอนที่ดินให้คนละ 20 ล้านบาทต่อปี ก็ไม่ต้องเสียภาษีการรับให้" แหล่งข่าวเปิดเผย

 

สำหรับส่วนที่เกิน 20 ล้าน บาท จะต้องเสียภาษีการรับให้ในอัตรา 5% และการโอนให้กับบุตรบุญธรรม หรือไม่ใช่ผู้สืบสันดานจะเก็บภาษีในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท อัตรา 5%

 

แหล่งข่าวระบุว่า การแก้ไขกฎหมายภาษีการรับให้จะทำให้การเก็บภาษีการรับให้มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งกฎหมายนี้ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขให้สอดรับการเสียภาษีรับมรดกที่ทายาทที่สืบสันดานโดยตรงได้จะต้องเสียภาษีมรดกส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 5% ขณะที่ผู้รับมรดกที่ไม่ได้เป็นทายาทจะเสียภาษีมรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท ในอัตรา 10%

 

ทั้งนี้ ภาษีมรดกเริ่มมีผลบังคับจริงตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถเก็บภาษีได้จริง เพราะผู้มีฐานะได้มีการวางแผนการบริหารทรัพย์สิน โดยทยอยการโอนให้เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีมรดกและไม่ต้องเสียภาษีการรับให้

 

 

ขอบคุณที่มา : PostToday