วันที่ 6 ก.พ. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสรรพสามิตได้ชี้แจงกรณีปรับโครงสร้างภาษีน้ำมัน โดยระบุว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560 ให้ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศ จากเดิมอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 1 หรืออัตราตามปริมาณ 0.20 บาท/ลิตร เป็นอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 23 หรือตามปริมาณ 3 บาท/ลิตร และให้เพิ่มประเภทสินค้าที่จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในหมวดน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันหล่อลื่นในอัตราตามปริมาณในอัตรา 5 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลว และ 5 บาท/กิโลกรัม สำหรับน้ำมันหล่อลื่นไม่เหลว
น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศไม่มีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 ในขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ มีการปรับอัตราภาษีหลายครั้งเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ราคาน้ำมัน ส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานในประเทศมีอัตราที่ต่ำกว่าภาษีเชื้อเพลิงในภาคการขนส่งประเภทอื่นๆ เช่น ทางบก ทางรถไฟ หรือทางน้ำ ที่ใช้น้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นเชื้อเพลิงในพาหนะ และต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ไม่ได้ใช้เป็นเชื้อเพลิงของอากาศยาน ดังนั้น เพื่อป้องกันการใช้น้ำมันผิดประเภทและเพื่อสร้างความเป็นธรรมในภาคการขนส่งประเภทต่างๆ ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสะท้อนต้นทุนมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง จึงเห็นควรปรับอัตราภาษีให้เหมาะสม จากการปรับอัตราภาษีครั้งนี้ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5,200 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้ น้ำมันหล่อลื่นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จาการกลั่นน้ำมันดิบเช่นเดียวกับน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา และจากการสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี โดยในอดีตกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง จัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากน้ำมันหล่อลื่น ในอัตราร้อยละ 5 และได้ยกเลิกการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันหล่อลื่น ในปี พ.ศ. 2535 เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลมีนโยบายในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน และเนื่องจากน้ำมันหล่อลื่นเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีค่าทางเศรษฐกิจ และการได้มาซึ่งน้ำมันหล่อลื่นดังกล่าวส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเช่นเดียวกับน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดอื่นๆ ที่กรมสรรพสามิตได้มีการจัดเก็บภาษีอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการจัดเก็บภาษีน้ำมันหล่อลื่นเช่นเดียวกับการจัดเก็บในอดีต แต่ให้มีการจัดเก็บภาษีตามอัตราตามปริมาณในอัตรา 5 บาท/ลิตร สำหรับน้ำมันหล่อลื่นเหลวหรือน้ำมันที่คล้ายกัน และน้ำมันหล่อลื่นที่ทำจากน้ำมันหล่อลื่นใช้แล้ว และในอัตราตามปริมาณ 5 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับน้ำมันหล่อลื่นไม่เหลว หรือน้ำมันที่คล้ายกัน (จารบี) จากการปรับอัตราภาษีครั้งนี้ จะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 3,400 ล้านบาทต่อปี
ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ