จ้างผู้สูงอายุอย่างไร หักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ 2 เท่า

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

         ค่าจ้างผู้สูงอายุ หักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้สองเท่า เป็นมาตรการภาษีเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยกฎหมายประกาศใช้เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 มีพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 639) พ.ศ. 2560 สาระสำคัญคือให้สิทธิประโยชน์ภาษีการจ้าง “ผู้สูงอายุ” ผู้จ้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำค่าจ้างไปเป็นรายจ่ายในการคำนวณเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ 2 เท่าของค่าจ้างจริง โดยที่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการได้สิทธิตัวนี้สลับซับซ้อนพอสมควร เมื่อเรียบเรียงจากภาษากฎหมายมาเป็นภาษาเพื่อการสื่อสารที่เข้าใจได้ จะมีสาระสำคัญ ดังนี้

ผู้สูงอายุคือ

- ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปในวันที่จ้าง เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป ผู้สูงอายุที่จ้างต้องเกิดก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2498

 

ผู้สูงอายุที่จ้างต้อง 

- สัญชาติไทย

- เคยเป็นลูกจ้างของนิติบุคคลที่จ้างอยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนหางานไว้กับกรมการจัดหางาน

- ไม่เป็นและไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้ถือหุ้นของนิติบุคคลที่จ้าง หรือนิติบุคคลในเครือเดียวกัน

 

จ้างเป็นอะไรได้บ้าง

- จ้างเป็นลูกจ้างหรือตำแหน่งหน้าที่อื่น ๆ ก็ได้ เช่นรับจ้าง ที่ปรึกษา 

 

ผู้สูงอายุที่ทำงานหลายแห่ง

- นิติบุคคลที่ผู้สูงอายุเข้าทำงานก่อน ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีเพียงแห่งเดียว

 

ค่าจ้างผู้สูงอายุ

- ค่าจ้างต้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นห้าพันบาท (ถ้าค่าจ้างเกินนี้หักเป็นรายจ่ายได้ตามจริง แต่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ในการหักรายจ่ายเพิ่ม)

 

ค่าจ้างผู้สูงวัยสูงสุดที่หักเป็นรายจ่ายได้สองเท่า

-จำนวนผู้สูงวัยที่จ้างได้ -ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนลูกจ้าง (จำนวนที่เกินหักเป็นรายจ่ายได้ตามความเป็นจริง แต่ไม่ได้สิทธิประโยชน์ภาษีในการหักรายจ่ายเพิ่ม)

 

รอบบัญชีที่ใช้

- รอบตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2559 เป็นต้นไป

 

หลักเกณฑ์อื่น ๆ

- เป็นไปตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศ

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา , ราชกิจจานุเบกษา