เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 60 นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับกรมสรรพากร ในการเป็นตัวแทนจัดเก็บอากรแสตมป์แทนกรมสรรพากร สำหรับตราสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร ที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคล โดยต่อไปผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องซื้ออากรแสตมป์มาติดบนเอกสารตามที่กฎหมายกำหนด แต่สามารถจ่ายเงินสดต่อนายทะเบียนได้ทันที ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจลดระยะเวลาในการติดต่อกับภาครัฐ และประหยัดเวลาในการทำธุรกิจได้เพิ่มขึ้น
“ปกติเวลายื่นเอกสารการจดทะเบียนนิติบุคคล กฎหมายจะกำหนดให้ต้องติดอากรแสตมป์ ทำให้เอกชนมีความยุ่งยากไปหาซื้ออากรแสตมป์มาติด ซื้อมาเกินบ้าง ขาดบ้าง ทำให้เสียเวลา แต่จากนี้ไป สามารถจ่ายเงินสดที่นายทะเบียนได้เลย ซึ่งจะทำให้ภาคธุรกิจมีความสะดวกสบายมากขึ้น”
ทั้งนี้ ตามกฎหมายประมวลรัษฎากร ได้กำหนดให้ต้องติดอากรแสตมป์ในเอกสารบางประเภทที่ใช้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนนิติบุคคลตามที่กำหนดในบัญชีอากรแสตมป์ หรือสำเนาพยานหลักฐานในคดีแพ่ง แต่การลงนามครั้งนี้ กรมฯ สามารถจัดเก็บค่าอากรแสตมป์เป็นเงินสดแทนกรมสรรพากรได้
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว ยังเป็นการส่งเสริมให้การเปิดดำเนินการระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) อย่างครบวงจร ซึ่งกรมจะเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในวันที่ 18 เม.ย.นี้ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้า เพราะจะทำให้การจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลออนไลน์ทำได้ตั้งแต่เริ่มต้นจัดตั้งธุรกิจ การจองชื่อ การยื่นจดทะเบียน การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ไปจนถึงการเลิกประกอบธุรกิจ ซึ่งสามารถทำได้ผ่านระบบออนไลน์ทั้งหมด และทำได้ตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
“ในส่วนของอากรแสตมป์ที่มีการลงนามกับกรมสรรพากรไปแล้ว ก็จะมาช่วยสนับสนุนระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์ เพราะในช่วงการจดทะเบียนออนไลน์ หากมีเอกสารที่จะต้องติดอากรแสตมป์ ก็สามารถจ่ายเงินผ่านช่องทางของระบบได้เลย หรือถ้าไม่สะดวก ก็ให้นำโค้ดที่ได้จากระบบไปจ่ายผ่านเซเว่นอีเลฟเว่นก็ได้” น.ส.บรรจงจิตต์กล่าว
ทั้งนี้ คาดว่า เมื่อเปิดให้ใช้ e-Registration อย่างสมบูรณ์แล้ว จะส่งผลให้การจดทะเบียนธุรกิจของประเทศไทยเทียบเท่าประเทศที่มีแนวปฏิบัติด้านการให้บริการจดทะเบียนธุรกิจที่เป็นเลิศของโลกจาก Best Practice เช่น นิวซีแลนด์ ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น และจะช่วยยกระดับไทยให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจ (Ease of Doing Business) โดยคาดว่า ผลการจัดอันดับความยาก ง่ายในการประกอบธุรกิจด้านการเริ่มต้นธุรกิจ (Starting Business) ปี 61 ไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นกว่าเดิมแบบก้าวกระโดดอย่างแน่นอน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางเข้ามาลงทุนในประเทศไทยของชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
ที่มา : ไทยรัฐ