6 เรื่องสำคัญที่ควรรู้ หลังหมดเขตยื่นภาษีเงินได้ปี 2559

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

โดย...พรี่หนอมสอนภาษี TAXBugnom

 

“วันที่ 10 เม.ย. 2560 ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559 เป็นวันสุดท้ายคร้าบ”

 

ผมโพสต์ข้อความนี้ลงในแฟนเพจ TAXBugnoms เพื่อเตือนเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ อีกครั้งหนึ่งในตอนเช้าของวันที่ 10 เม.ย. 2560 หรือวันสุดท้ายของการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านอินเทอร์เน็ตสำหรับปี 2559 เผื่อคนที่ยังไม่ทราบ หรือว่าลืมยื่นแบบแสดงรายการของตัวเอง

 

ดังนั้น ในวันนี้เราจะแบ่งคนออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ “คนที่ยื่นภาษีไปแล้ว” กับ “คนที่ยังไม่ยื่นภาษี” ซึ่งคนทั้งสองกลุ่มนั้นมีเรื่องที่ต้องรู้ที่แตกต่างกันไปคนละ 3 ข้อ ดังนี้ครับ

 

คนที่ยังไม่ยื่นภาษี ต้องรู้อะไรบ้าง?

1.ถ้าจะยื่นตอนนี้ ต้องยื่นแบบกระดาษเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่ได้ยื่นภาษี หรือยื่นไม่ทัน ถ้าวันนี้อยากจะยื่นแบบแสดงรายการภาษี เมื่อพ้นกำหนดชำระแล้ว ต้องยื่นเป็นแบบกระดาษที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาเท่านั้นครับ ไม่สามารถยื่นแบบแสดงรายการผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้วนะ จะบอกให้...

 

2.ถ้ามีรายได้แล้วไม่ยื่นภาษี ถือว่ามีความผิด อย่างที่ทราบกันดีครับว่า การยื่นภาษีเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่มีรายได้ครับ สำหรับคนที่ไม่ยื่นภาษีนั้นถือว่ามีความผิด และมีบทลงโทษ 2 เรื่องครับ

- ค่าปรับ การไม่ยื่นภาษีตามกำหนดนั้นถือว่าต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากรครับ แต่ในทางปฏิบัติสามารถขอลดค่าปรับได้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 200 บาท

- เงินเพิ่ม กรณีมีการชำระภาษี ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ โดยเริ่มคิดตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค. เป็นต้นไปครับ (ครบกำหนดยื่นแบบแสดงรายการ)

แต่ถ้าหากเป็นผลของการตรวจสอบของเจ้าพนักงาน (เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร) เช่น การออกหมายเรียก นอกจากจะเสียค่าปรับและเงินเพิ่มแล้ว อาจจะต้องเสียเบี้ยปรับอีก 1 หรือ 2 เท่าของจำนวนภาษีด้วยครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีไปครับ

 

3.สิทธิในการยื่นขอคืนภาษีนั้น มีอายุ 3 ปี  กรณีที่เรามีภาษีที่ชำระไว้เกิน แล้วไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการขอคืนภาษีไว้ ทีนี้มาเช็กดูแล้วว่าตัวเองได้คืนภาษี สามารถยื่นขอคืนย้อนหลังได้สูงสุดถึง 3 ปีครับ นับจากวันสุดท้ายของกำหนดเวลายื่นรายการภาษี (ตามมาตรา 27 ตรีแห่งประมวลรัษฎากร) ซึ่งในกรณีของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานี้ หมายถึงวันที่ 31 มี.ค. ของปีถัดไปครับ

ยกตัวอย่างเช่น สำหรับคนที่ไม่ได้ยื่นภาษีปี 2559 นี้ ก็จะสามารถขอคืนภาษีได้ภายใน 3 ปี นับจากวันที่ 31 มี.ค. 2560 นั่นเองครับ

เอาละครับ สำหรับส่วนของคนที่ยังไม่ยื่นภาษีก็ได้รู้กันไปถึง 3 ข้อแล้ว ทีนี้มาดูกันต่อครับว่า ในกรณีของคนที่ยื่นภาษีแล้ว ทั้งมีภาษีที่ชำระเพิ่มเติมและได้คืนภาษี (อยู่ในระหว่างรอ) ผมมีคำแนะนำอีก 3 ข้อมาเพิ่มเติมให้เช่นเดียวกันครับ

 

คนที่ยื่นภาษีแล้ว ต้องรู้อะไรบ้าง?

1.กรณีขอคืนภาษี ต้องมีเอกสารครบ สำหรับคนที่ยื่นภาษีแล้วขอคืนไว้ สิ่งที่ต้องมีคือ เอกสารหลักฐานการขอคืนภาษีครับ โดยเฉพาะเอกสารหลักฐานภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ต้องมีการอ้างอิงหลักฐาน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องเตรียมให้พร้อมครับ

สิ่งที่ผมเจอส่วนใหญ่คือ เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการหัก ณ ที่จ่ายที่ไม่ครบ ซึ่งตรงนี้จะบอกว่าเราจะเสียสิทธิในการใช้ภาษีหัก ณ ที่จ่ายจำนวนนั้นไปเลยครับ เนื่องจากไม่มีหลักฐานมาแสดงนั่นเองครับ

 

2.คืนไม่ครบตามที่กำหนด สามารถอุทธรณ์ได้ สำหรับคนยื่นขอคืนภาษีไป แต่ได้รับภาษีคืนไม่เท่ากับจำนวนที่ขอ (ส่วนใหญ่จะได้คืนน้อยกว่าที่ขอนะครับ ฮ่าๆ) ตรงนี้เรามีสิทธิที่จะอุทธรณ์ผลการคืนภาษีได้ครับ

โดยวิธีการอุทธรณ์นั้น ให้ทำหนังสืออุทธรณ์ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากร (ค.30) ยื่น ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่ไม่แจ้งคืนเงินกับทางเราครับ ซึ่งถ้าหากใครเริ่มต้นไม่ถูก ทำไม่เป็น หรือไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร แนะนำให้โทรติดต่อได้ที่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ที่ส่งเช็คมาคืนให้กับเราโดยตรงครับ

 

3.กรณีจ่ายภาษีเพิ่ม สามารถเลือกจ่ายเป็นเงินผ่อนได้ สำหรับคนที่มีภาษีต้องชำระเกิน 3,000 บาท ซึ่งถ้าหากใครเลือกไม่ทันก็ไม่ต้องเสียใจนะครับ ไว้ปีหน้าค่อยเลือกใหม่ก็ได้

แต่สำหรับคนที่เลือกผ่อนชำระภาษีไว้แล้ว หรือต้องจ่ายภาษีจำนวนมาก ผมมีแนวทางการผ่อนแบบประหยัดมาแชร์ให้ฟังกันเพิ่มเติม โดยใช้วิธีดังนี้ครับ

 

- นำเงินภาษีทั้งหมดที่ต้องจ่ายเต็มจำนวนไปไว้ในกองทุนตลาดเงิน พักทิ้งไว้เพื่อทยอยจ่ายภาษี 3 เดือนตามที่ว่านี้ จะได้ไม่มีปัญหาใช้เงินเกินตัวและไม่ติดขัดสภาพคล่องตอนที่ต้องจ่ายภาษี

 

- เลือกจ่ายภาษีผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการ เอ้ย ที่มีสิทธิจ่ายผ่านระบบของกรมสรรพากรได้ (ปัจจุบันมีอยู่ 3 เจ้า SCB, KBANK, BBL) ซึ่งเลือกบัตรที่ตัดรอบก่อนวันที่จะต้องจ่าย เพื่อให้ขยายระยะเวลาไปอีก 45 วันโดยประมาณ

 

- ทยอยขายเงินลงทุนในกองทุนตลาดเงินออกมาจ่ายภาษีตามรอบที่ครบกำหนดจ่าย

 

วิธีนี้จะทำให้ภาษีที่ผมต้องจ่ายนั้นถูกยืดระยะเวลาไปอีกเกือบๆ เดือน และยังได้ผลตอบแทนอีกนิดหน่อยจากการวางเงินก้อนไว้ที่กองทุนตลาดเงิน เพื่อเอามาจ่ายภาษีได้ถูกลงนิดหน่อยครับ

 

เอาละครับ ทั้งหมดนี้คือ 6 เรื่องสำคัญที่ควรรู้หลังหมดเขตยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2559 ซึ่งผมหวังว่าเรื่องเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อท่านผู้อ่านไม่มากก็น้อยในการวางแผนจัดการภาษีและการเงินของตัวเองครับ

 

…ขอให้จ่ายภาษีอย่างมีความสุขกันทุกคนนะครับ :) 

 

 

ที่มา : PostToday