กฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว เอื้อ...

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

     นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนที่ 88 ก ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ซึ่งทำให้พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป กฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับลูกจ้างบางกลุ่มหรือ บางประเภท เช่น การกำหนดอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงสำหรับ นักเรียน นักศึกษา คนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถทำงานได้ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานสำหรับลูกจ้างบางกลุ่ม ที่อาจมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างจากลูกจ้างทั่วไป เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ เมื่อนายจ้างมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปให้จัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ซึ่งมีเนื้อหารายละเอียดบางรายการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยประกาศอย่างเปิดเผยและจัดเก็บสำเนาไว้ ณ สถานประกอบกิจการนั้น ทั้งนี้ไม่ต้องส่งสำเนาข้อบังคับฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อลดภาระของนายจ้าง ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทยในการลดขั้นตอนการประกอบธุรกิจ

     อธิบดี กสร. กล่าวต่อไปว่า กฎหมายฉบับนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกษียณอายุและการจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ เพื่อคุ้มครองลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ สร้างความมั่นคงให้แก่ลูกจ้างหลังเกษียณอายุและเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเพิ่มบทกำหนดโทษกรณีนายจ้าง ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างกรณีเกษียณอายุ ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายนี้ต่างกับข้อกำหนดในกฎหมายประกันสังคม กฎหมายนี้ กำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้เกษียณอายุ โดยลูกจ้างอายุ 60 ปี จะทำงานต่อไปก็ได้ หรือสามารถแจ้งขอเกษียณตามกฎหมายนี้เพื่อขอรับสิทธิค่าชดเชยได้ ซึ่งนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่าย ภายใน 30 วัน เมื่อลูกจ้างขอใช้สิทธิ ทั้งนี้ ลูกจ้างสามารถรับสิทธิประโยชน์ ได้ทั้งตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายฉบับนี้.

 

 

ขอขอบคุณที่มา : www.ryt9.com