1. บริการพร้อมเพย์ดีอย่างไรบังคับให้ทุกคนต้องลงทะเบียนหรือไม่?
บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) หรือเดิมใช้ชื่อว่า เอนี่ ไอดี (Any ID) เป็นทางเลือกในการให้บริการรับ – โอนเงินระหว่างกันแบบใหม่ โดยไม่ต้องใช้เลขที่บัญชีเงินฝากธนาคาร ใช้เพียงแค่หมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือ เลขประจำตัวประชาชนทำให้การโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์มีความสะดวกและปลอดภัย
โดยจะให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร คือ Mobile Banking, Internet, Banking และ ตู้ ATM ทั้งนี้ การให้บริการพร้อมเพย์ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินของประเทศไทย
พร้อมเพย์เป็นบริการทางเลือกให้ประชาชนโดยทุกคนไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียน แต่ผู้ที่มีการโอนเงินรับเงินบ่อย ๆ ควรมาลงทะเบียนใช้พร้อมเพย์ เพราะจะได้รับ ประโยชน์จากค่าธรรมเนียมที่ถูกลงมาก
ในระยะแรกจะเป็นการลงทะเบียนเพื่อให้บริการรับ โอนเงินระหว่างบุคคลก่อน โดยมีค่าธรรมเนียมดังนี้
2. บริการพร้อมเพย์ปลอดภัย หรือไม่
บริการพร้อมเพย์เป็นระบบที่มีความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานสากล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับระบบการโอนเงินประเภทต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
ระบบพร้อมเพย์มีการดูแลความปลอดภัยตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนที่รัดกุม การพัฒนาระบบกลางที่มั่นคง ปลอดภัย และการใช้งานของประชาชนผู้โอนเงินอย่างถูกต้อง
ลงทะเบียนรัดกุม ธนาคารจะมีการตรวจสอบตัวตนของลูกค้าและความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถืออย่างรัดกุม นอกจากนี้ ธปท. ได้กำชับให้ธนาคารปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนดในการรับลงทะเบียนพร้อมเพย์ ซึ่งได้ออกไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 59 เพื่อให้การลงทะเบียนมีความปลอดภัยเป็นมาตรฐาน และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมทั้ง ธปท. มีการตรวจสอบ ขั้นตอนและการควบคุมดูแล ระบบการลงทะเบียนพร้อมเพย์เป็นการเฉพาะเพื่อให้มั่นใจในความมั่นคงปลอดภัยและความพร้อมใช้งาน
ระบบกลางมั่นคงปลอดภัย พร้อมเพย์เป็นระบบที่พัฒนาเพิ่มจากระบบโอนเงินที่ใช้อยู่ปัจจุบัน จึงมีความปลอดภัยไม่ด้อยกว่าบริการโอนเงินในปัจจุบันเป็นระบบที่เชื่อมระหว่างธนาคารและผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ของประเทศไทยคือ บริษัท NITMX จึงเป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลคนภายนอกไม่สามารถต่อเข้ากับระบบนี้ผ่านช่องทาง Internet ทั่วไปได้ และ ธปท. ได้ติดตามดูแลการพัฒนาระบบด้านความมั่นคงปลอดภัยด้วย
นอกจากนี้ ได้มีการเตรียมการรองรับในด้านความปลอดภัย รวมถึงการดูแลระบบสารสนเทศ (IT) ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย มาตรฐานความถูกต้องความพร้อมใช้ของระบบ การดูแลการเข้าถึงข้อมูล การสำรองข้อมูล การมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉินด้วย
ระบบกลางของพร้อมเพย์ได้ถูกออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทที่เป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบการชำระเงิน และเป็นผู้พัฒนาระบบการชำระเงินที่ใช้ในประเทศต่างๆ อาทิ ระบบที่มีลักษณะเดียวกันกับพร้อมเพย์ที่ประเทศอังกฤษ (ใช้มาเป็นเวลา 8 ปี) และสิงคโปร์ (2 ปี) โดยมีมาตรฐานความปลอดภัยสูงระดับสากล และยังมีระบบติดตามและป้องกันการทุจริตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยด้วย
ทั้งนี้ ผู้ให้บริการระบบกลาง ได้ให้บริการโดยระบบที่มีมาตรฐานความปลอดภัยด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ตามมาตรฐาน ISO 27001 ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระบบสากลและมีการตรวจสอบประเมินความปลอดภัยจากหน่วยงานภายนอกที่ได้รับการรับรองอีกชั้นหนึ่ง
ประชาชนโอนเงินอย่างถูกต้อง นอกเหนือจากความปลอดภัยของระบบกลางแล้ว ได้มีการออกแบบความปลอดภัยในส่วนของกระบวนการเข้าใช้งาน กล่าวคือ ผู้ใช้บริการทุกธนาคาร จะต้องมีการใส่เลขรหัส หรือ Password และมีการยืนยัน รายการก่อนทำการโอนทุกครั้ง
3. ผู้ใช้บริการพร้อมเพย์ต้องลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์หรือไม่
ผู้โอนเงิน ถึงแม้ว่าไม่ได้ลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์ ก็สามารถโอนเงินด้วยพร้อมเพย์ได้แต่ผู้รับโอนต้องลงทะเบียนใช้บริการพร้อมเพย์แล้ว ผู้โอนเงินจึงสามารถโอนผ่านพร้อมเพย์ด้วยค่าธรรมเนียมใหม่ได้
ผู้รับโอนเงิน จะต้องลงทะเบียนเพื่อผูกบัญชีธนาคารของตนเองกับหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนก่อนและแจ้งหมายเลขดังกล่าวให้ผู้โอนทราบ เพื่อ
รับเงินเข้าบัญชีที่ได้ผูกไว้
4. ผู้ที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารหลายบัญชีจำเป็นต้องมาลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกบัญชีหรือไม่
สำหรับผู้ที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารหลายบัญชีไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนพร้อมเพย์ทุกบัญชี แต่อาจเลือกบัญชีใดบัญชีหนึ่งไว้สำหรับรับเงินด้วยพร้อมเพย์ก็ได้ หรือในกรณีที่อยากใช้พร้อมเพย์กับหลายบัญชีก็สามารถเลือกผูกเลขประจำตัว ประชาชนกับบัญชีที่ 1 และผูกหมายเลขโทรศัพท์มือถือกับบัญชีที่ 2 ก็ได้ แต่ต้องระวังว่าหมายเลขเดียวกันผูกซ้ำเกินกว่า 1 บัญชีไม่ได้
5. การที่ผู้อื่นรู้เลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือของเราจะเอาไปโอนเงินออกจากบัญชีเราได้หรือไม่
กรณีนี้ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการผูกบัญชีกับเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือนั้น ทำเพื่อการรับเงินได้สะดวก การโอนเงินออกจากบัญชีไม่มีอะไรเปลี่ยนจากเดิม หากโอนโดยใช้ Mobile Banking หรือ Internet Banking ก็ต้องมี Username / Password หรือหากโอนที่ ATM ก็ต้องมีบัตร ATM และรหัสผ่านจึงจะโอนเงินออกไปได้ หรือการถอนเงินที่สาขาก็ต้องมีลายเซ็นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเลขประจำตัวประชาชน หรือหมายเลขโทรศัพท์มือถือแต่อย่างใด
การนำหมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้อื่นไปแอบอ้างลงทะเบียนผูกบัญชีของตนเองเพื่อขโมยเงินมา ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากธนาคารจะมีระบบรักษาความปลอดภัยหลายชั้น เช่น การตรวจสอบลูกค้า (Know Your Customer : KYC) ตามหลักเกณฑ์ที่ ธปท. กำหนดและการตรวจสอบคามเป็นเจ้าของ ของหายเลขโทรศัพท์มือถือและตัวเครื่องในขั้นตอนการลงทะเบียน นอกจากนี้ข้อมูลของผู้ลงทะเบียนดังกล่าว ต้องมีความถูกต้องตรงกันกับข้อมูลในบัญชีเงินฝากธนาคารด้วย
6. การใช้บริการพร้อมเพย์มีข้อควรปฏิบัติ / ควรระวังอย่างไรบ้าง
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้รับโอนเงิน
ในการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ ผู้รับโอนเงินต้องลงทะเบียนให้สำเร็จ ก่อนแจ้งเลขประจำตัวประชาชน หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ให้ผู้โอนเงิน
1 หมายเลข ผูกได้เพียง 1 บัญชีเท่านั้น อย่าใช้หมายเลขเดียวกันลงทะเบียนซ้ำกับหลายธนาคารจะทำให้การลงทะเบียนไม่สำเร็จ
หากต้องการเปลี่ยนบัญชีเงินฝากธนาคารที่ได้ลงทะเบียนผูกบัญชีไว้กับทั้งเลขประจำตัวประชาชน และ/หรือ หมายเลขโทรศัพท์มือถือ ต้องไปยกเลิกการลงทะเบียนกับธนาคารที่เคยผูกบัญชีไว้ก่อน
แล้วจึงไปลงทะเบียนผูกบัญชีกับธนาคารใหม่
กรณีเปลี่ยน / ยกเลิกหมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ได้ลงทะเบียนผูกบัญชีไว้แล้ว ต้องไปยกเลิกการลงทะเบียนกับธนาคารที่เคยผูกบัญชีไว้โดยเร็วและหากลูกค้ายังต้องการใช้บริการพร้อมเพย์ ต้องนำหมายเลขโทรศัพท์ใหม่ไปลงทะเบียนใหม่กับ ธนาคารที่ลูกค้าเลือกใช้บริการ
ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้โอนเงิน
ก่อนโอนเงินขอให้ ตรวจสอบชื่อนามสกุล ผู้รับโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง
ข้อควรระวังโดยทั่วไปของการใช้บริการพร้อมเพย์
ควรระมัดระวังรักษาอุปกรณ์ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือ Mobile Device ที่ใช้เชื่อมต่อทำธุรกรรมเกี่ยวกับระบบพร้อมเพย์เป็นอย่างดี เพื่อไม่ให้ผู้อื่นเอาไปใช้งาน เช่นเดียวกับการดูแลบัตรเครดิตหรือบัตร ATM ที่ผ่านมา
ผู้โอนเงินควรเรียนรู้ ศึกษา วิธีการใช้งานอย่างปลอดภัย เช่น การตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนการยืนยันการโอนเงิน
ควรมีความระมัดระวังในการตั้งรหัส Username / Password ให้คาดเดาได้ยากและไม่บอกรหัส Username / Password กับผู้อื่น หรือเขียนเอาไว้ในที่เปิดเผย ที่ผ่านมาปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้น มักมีสาเหตุจากการหลอกลวงโดยคน ไม่ใช่เรื่องของ ระบบงานจึงต้องระมัดระวังกลโกงต่าง ๆ ให้โอนเงินไปให้ หรือหลอกขอข้อมูลรหัส Username / Password
7. หมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงิน (Prepaid) สามารถใช้ในการลงทะเบียนได้หรือไม่ และจะตรวจสอบความเป็นเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือได้อย่างไร
หมายเลขโทรศัพท์มือถือแบบ Prepaid ที่ลงทะเบียนด้วยชื่อของท่าน สามารถนำมาลงทะเบียนได้โดยดำเนินการตามเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
ประชาชนสามารถตรวจเช็คว่าหมายเลขโทรศัพท์มือถือของตนได้ลงทะเบียนกับค่ายโทรศัพท์มือถือไว้ด้วยเลขประจำตัวประชาชนของตนเองหรือไม่ (ทั้ง Prepaid และPostpaid) ก่อนการลงทะเบียนผูกบัญชีพร้อมเพย์ ซึ่งสามารถเช็คได้ด้วยตัวเอง โดยการ กด *179*เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก # และโทรออกโดย ใช้ได้กับทุกค่ายมือถือตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 59 เป็นต้นไป
8. หากการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์มีคามผิดพลาด เช่น ตัดเงินต้นทางแต่ไม่เข้าปลายทาง หรือโอนเงินผิด จะทำอย่างไร
ผู้ใช้บริการควรเก็บรายละเอียดหรือหลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ และแจ้งกับธนาคารต้นทางเพื่อทำการตรวจสอบธนาคารมีกระบวนการรองรับปัญหานี้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกันที่ใช้แก้ปัญหาการโอนเงินในปัจจุบัน
9. (1) หากมีการรับสวัสดิการ เช่น เบี้ยคนพิการ ถ้าไม่ได้มาลงทะเบียนบริการพร้อมเพย์เพื่อผูกเลขประจำตัวประชาชน จะถูกตัดสิทธิ์การรับสวัสดิการหรือไม่
พร้อมเพย์เป็นทางเลือกใหม่เพิ่มเติมจากบริการโอนเงินในปัจจุบันถ้าไม่ได้ผูกบัญชี ก็ยังคงได้รับเงินสวัสดิการ / เงินช่วยเหลือต่างๆ จากภาครัฐตามปกติผ่านช่องทางปัจจุบัน
(2) ถ้ามีบัญชีที่พร้อมรับเงินสวัสดิการจากรัฐอยู่ในระบบของกรมบัญชีกลางแล้ว ยังจำเป็นต้องลงทะเบียนหรือไม่
อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ที่มีสิทธิรับเงินสวัสดิการ / เงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐควรลงทะเบียนระบบพร้อมเพย์โดยผูกเลขประจำตัวประชาชนกับบัญชีเงินฝากธนาคาร ซึ่งจะช่วยให้การรับเงินสวัสดิการ / เงินช่วยเหลือต่าง ๆ ของภาครัฐในอนาคตมีความสะดวกมากขึ้น ภาครัฐจะส่งเงินสวัสดิการ / เงินช่วยเหลือต่าง ๆ มาให้ได้ตรงตัวผ่านเลขประจำตัวประชนชน ครบถ้วนทุกประเภทสวัสดิการที่เรามีสิทธิได้รับด้วยความรวดเร็ว
10. ข้อมูลส่วนตัวจะปลอดภัยหรือไม่
ข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการมีความปลอดภัยสูงธนาคารหรือ NITMX ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผยหรือขายต่อได้ โดยมีกฎหมาย พ.ร.บ. ธุรกิจสถาบันการเงิน และ พ.ร.ฎ. ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมอยู่ ซึ่งธนาคารและ NITMX ได้ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด และ ธปท. มีการตรวจสอบกำกับดูแลสม่ำเสมอ
นอกจากนี้ ข้อมูลการชำระเงินที่เก็บอยู่ในระบบกลาง มีระบบการรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลโดยจะถูกเข้ารหัสความปลอดภัยทั้งหมด
ขอบคุณเนื้อหาดีๆ จาก ธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งที่มา : tech.mthai.com