โบนัสออกทั้งที บริหารเงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์? ประโยคที่มักได้ยินบ่อยในช่วงปลายปีแบบนี้ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนทั้งหลาย ถ้าไม่พูดถึง “โบนัส” คงไมได้ เพราะทุกสิ้นปีบริษัทจะมอบเงินโบนัสให้กับพนักงานเป็นขวัญและกำลังใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของแต่ละบริษัทด้วย
เมื่อเหนื่อยกันมาทั้งปีแบบนี้เมื่อเงินโบนัสออกทั้งที หลายคนอาจนำเงินจากความตั้งใจทำงานของเราตลอดทั้งปีมาตอบแทนตัวเองด้วยของที่ต้องการ บางคนมอบของขวัญให้ครอบครัว รวมถึงบางคนก็ฝากธนาคาร ฯลฯ ขึ้นอยู่ที่ความสะดวกของแต่ละท่าน
สำหรับคนที่กำลังมองหาวิธีการต่อยอดเงินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ หรือจะลงทุนอะไรที่น่าสนใจเพื่อนำไปลดหย่อนภาษี เรามี 4 ทริคบริหารเงินมาแชร์กันค่ะ
1. เคลียร์หนี้สิน
สำหรับคนที่มีภาระหนี้สินอยู่ เจ้าเงินโบนัสนี่แหละค่ะที่ช่วยเราได้ โดยอาจแบ่งออกมาส่วนหนึ่งเพื่อทยอยโป๊ะหนี้ก็ได้ โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตและหนี้บัตรกดเงินสดทั้งหลาย ที่จ่ายผิดเวลาก็มีอัตราดอกเบี้ยสูงตามมา แนะนำว่าให้จัดลำดับการจ่ายให้ดี ๆ เลือกชำระเจ้าหนี้ที่เราไหวก่อน เพื่อตัดรายการเจ้าหนี้ออกไปหรือเลือกชำระกับเจ้าหนี้ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงเพื่อลดความเสี่ยงการจ่ายที่มากขึ้น
2. ให้รางวัลตัวเอง
เหนื่อยกันมาตลอดทั้งปีแล้ว การตอบแทนตัวเองด้วยการซื้อของที่อยากได้สักชิ้น หรือออกเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ที่อยากไป ถือเป็นการพักผ่อนทั้งร่างกายและจิตใจ แต่ควรอยู่ในงบที่พอดีกับรายได้และงบประมาณที่วางแผนไว้
3. การลงทุนแบบหวังผลกำไร
การลงทุน ไม่ว่าจะลงทุนในรูปแบบไหนมักมีความเสี่ยงและผลตอบแทนตามมูลค่าการลงทุน อาทิ การลงทุนในกองทุนรวม ถือเป็นตัวเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเก็บเงินแล้วได้ผลตอบแทน โดยระดับการลงทุนที่หวังผลกำไรนั้นแบ่งระดับความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับ
• ความเสี่ยงระดับสูง : กองทุนประเภทนี้จะเน้นลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง โดยผู้ลงทุนจะต้องมีสภาพการเงินที่คล่องตัว เช่น ทองคำ , หุ้น
• ความเสี่ยงระดับกลาง : เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการพักเงินหรือนักลงทุนมือใหม่ที่ไม่รู้จะนำเงินไปลงทุนอะไรดี (ทั้งนี้ควรศึกษารูปแบบการลงทุนให้ละเอียด) เช่น ตราสารหนี้ , อสังหาริมทรัพย์
• ความเสี่ยงระดับต่ำ : เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด ซึ่งผลตอบแทนก็จัดอยู่ในระดับต่ำเช่นกัน จึงเหมาะกับผู้ที่มีความจำเป็นนำเงินลงทุนไปใช้ในอนาคต เช่น ตราสารหนี้ระยะสั้น , เงินฝาก (แบบประจำ,แบบออมทรัพย์) อาจได้ดอกเบี้ยถึง 2.5 % ต่อปี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
4. การลงทุนลดหย่อนภาษี
ขอหยิบยกกลุ่มการลงทุนที่สามารถนำไปลดหย่อนได้จริง
กลุ่มประกันมี 2 ประเภท
1. ประกันชีวิต แบ่งเป็นแบบทั่วไปและแบบบำนาญ
2. ประกันสุขภาพ แบ่งเป็นสำหรับตัวเองและสำหรับพ่อแม่
สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะมีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ
• สิทธิประโยชน์ประกันชีวิตแบบทั่วไป
- ลดหย่อนได้สูงสุด 100,000 บาท ตามจำนวนที่จ่ายจริง
- แต่ต้องไม่เกิน 100,000 บาท เมื่อรวมกับเงินฝากแบบมีประกันชีวิตและประกันสุขภาพตัวเอง (ไม่เกิน 15,000 บาท)
- ประกันชีวิตของคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท ที่สำคัญต้องเป็นคู่สมรสกันตลอดทั้งปี (ไม่ได้เพิ่งแต่งปีนี้นะคะ)
• สิทธิประโยชน์ประกันชีวิตแบบบำนาญ
- ลดหย่อนได้สูงสุด 15% ของรายได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาทต่อปี
- ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท กรณีไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตแบบทั่วไป
- เมื่อรวมกับ กองทุน RMF,กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข,กองทุนสงเคราะห์ครูเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
• สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพตัวเอง
- สำหรับผู้ที่ทำประกันสุขภาพให้ตัวเองตั้งแต่ 1 ม.ค. 2560 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปี
- รวมเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000 บาท
- เงื่อนไขต้องทำกับบริษัทประกันในประเทศไทยเท่านั้น
• สิทธิประโยชน์ประกันสุขภาพของพ่อแม่
- ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปี
- ถ้าคู่สมรสไม่มีรายได้ เบี้ยประกันสุขภาพของพ่อแม่คู่สมรสก็สามารถนำไปใช้ลดหย่อนได้สูงสุด 15,000 บาทต่อปีเช่นกัน
- กรณีแบ่งจ่ายประกันสุขภาพพ่อแม่ให้กับพี่น้องตัวเอง จะเฉลี่ยตามจำนวนพี่น้องที่จ่ายร่วมกัน เช่น จ่ายจริงไป 15,000 บาท มีพี่น้องร่วมกันจ่ายทั้งหมด 3 คน จะมีสิทธิหักลดหย่อนได้คนละ 5,000 บาท (15,000 ÷ 3 คน)
สำหรับข้อสุดท้ายคำพูดที่คุ้นชิน “การลงทุนมักมีความเสี่ยงเสมอ ผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ” และเงื่อนไขรายละเอียดสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ขอทุกท่านได้โบนัสตามที่ใจหวังกันทุกคนนะคะ
บทความโดย : นางสาวณัฐชา คำภา ประจำสำนักคณะกรรมการบริหาร