อย่าลืม!! ยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2562 แม้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี!

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

อย่าลืม!! ยื่นภาษีบุคคลธรรมดา ปี 2562 แม้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษี!

 

หลังจากฉลองปีใหม่อย่างมีความสุขกันไปแล้ว แต่ในฐานะพลเมืองที่ดีอีกหน้าที่สำคัญที่ทุกคนห้ามละเลย คือการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.91 สำหรับรอบปีภาษี 2562 ที่ปัจจุบันขั้นตอนสะดวกไม่ยุ่งยาก สามารถยื่นออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์กรมสรรพากรและ Mobile Application อีกทั้งผู้ยื่นภาษีสามารถตรวจสอบข้อมูลค่าลดหย่อนต่าง ๆ ของตนเองผ่านระบบ My Tax Account ได้อีกด้วย

โดยกำหนดให้ยื่น ภ.ง.ด.91 ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 เป็นประจำทุกปี หรือผู้ที่ยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ขยายเวลาออกไปอีก 8 วัน จนถึงวันที่ 8 เมษายน 2563


ตัวอย่างหน้าเว็บไซต์กรมสรรพากร

 

 

 

แน่นอนว่าอย่างที่ทราบกันดีว่าสำหรับมือใหม่หรือผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่จะมีรายได้แค่เงินเดือนอย่างเดียว ก็สามารถยื่นภ.ง.ด.91 ได้เลยถึงแม้ไม่ถึงเกณฑ์เสียภาษีก็ตาม ทั้งนี้ก็เพื่อความปลอดภัยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกทางกรมสรรพากรเรียกตรวจสอบในภายหลัง  

แล้วใครบ้างที่ต้องยื่นภาษี?

1. ผู้ที่มีรายได้จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)

- กรณีไม่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 120,000 บาท

- กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกันเกิน 220,000 บาท

2. ผู้ที่มีรายได้จากการทำธุรกิจการค้าทั่วไปที่ไม่ใช่จากเงินเดือนเพียงอย่างเดียว ที่ได้รับในปีภาษีนั้น (ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม)

- กรณีไม่มีคู่สมรส ต้องมีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท

- กรณีที่มีคู่สมรสไม่ว่าฝ่ายเดียวหรือทั้งสองฝ่ายต้องมีเงินได้พึงประเมินรวมกันเกิน 120,000 บาท

3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง เกิน 60,000 บาท

4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเกิน 60,000 บาท

 

แล้วถ้าไม่ยื่นภาษี จะมีโทษอะไรไหม?

 แน่นอนค่ะเมื่อไม่ยื่นตามที่ทางกรมสรรพากรกำหนดจะมีอัตราค่าปรับอย่างไรบ้างไปดูกันค่ะ

- กรณีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ แต่ไม่ยื่นภาษี หากมีการตรวจสอบนั้น จะโดนค่าปรับ 2,000 บาท (ราคาขอปรับลดลงได้) รวมถึงต้องชำระเงินภาษีพร้อมทั้งเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี (นับจากวันที่หมดเขตยื่นภาษีจนถึงวันที่เพิ่งยื่นภาษี)

- ส่วนกรณีไม่มีเงินภาษีต้องชำระ ให้ชำระแค่ค่าปรับ 2,000 บาทเพียงอย่างเดียว (ราคาขอปรับลดลงได้)

 

และสำหรับผู้ขอคืน กรณีโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายเกิน ก็สามารถทำได้สะดวกรวดเร็วทางระบบออนไลน์อยู่ที่ไหนก็สามารถทำได้ค่ะ โดยลงทะเบียนด้วยเลขบัตรประชาชน 13 หลักได้ ที่ได้สมัครพร้อมเพย์กับบัญชีธนาคาร จะช่วยให้ได้คืนภาษีรวดเร็วกว่าเดิม หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร

 

 

 

แหล่งข้อมูล : กรมสรรพากร