ภ.ง.ด.94 ภาษีครึ่งปีที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ต้องรู้ !

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

     การขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหนหลาย ๆ คนอาจจะไม่คุ้นหูกับคำว่า ภ.ง.ด.94 เท่าไหร่นักเพราะส่วนใหญ่แล้วมนุษย์เงินเดือนจะยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประเภท ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 แต่สำหรับ ภ.ง.ด.94 นั้นจะเป็นการ “ยื่นภาษี” ของบุคคลธรรมดาที่มี “อาชีพอิสระนั่นเอง” เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ทั้งหลาย บทความนี้เรามาทำความรู้จักกับ ภ.ง.ด.94 กันค่ะ

     ภ.ง.ด.94 คืออะไร?

     ภ.ง.ด.94 คือ แบบชำระภาษีรอบครึ่งปี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นในฐานะบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล (บริษัทหรือห้างหุ้นส่วน) หากมีรายได้เข้ามาก็ต้องมีการเสียภาษีทั้งหมด โดยการยื่นภาษีกลางปีจะคำนวณจากการสรุปรายได้ทั้งหมดตั้งแต่เดือน 1 มกราคม - 30 มิถุนายน โดยหากมีรายได้เกิน 60,000 บาท (สำหรับคนโสด) หรือมากกว่า 120,000 บาท (สำหรับผู้ที่สมรส) จำเป็นต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ทั้งสิ้น ซึ่งไม่รวมจากรายได้จากงานประจำ

     ทำไมพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ถึงต้องยื่น ภ.ง.ด.94

     พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นั้นมีรายได้จากการขายของไม่คงที่ บางวันขายได้มาก บางวันขายได้น้อย การชำระภาษีแบบ ภ.ง.ด.94 จะช่วยให้พ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายได้คำนวณรายได้ของร้านตัวเองอย่างคร่าว ๆ และสามารถแบ่งจ่ายเฉพาะเงินได้จากการขายของออนไลน์ได้ก่อนตอนกลางปี ก่อนที่รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกันตอนปลายปี ซึ่งจะทำให้มีโอกาสเสียภาษีแพง

     ทำงานประจำด้วย ขายของออนไลน์ด้วย ต้องยื่น ภ.ง.ด.94 หรือไม่?

 

     ผู้ที่มีรายได้จากงานประจำหรือมนุษย์เงินเดือนนั้น เป็นรายได้คงที่เหมือนกันทุกเดือน จึงเป็นการง่ายต่อการคำนวณรายได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะต้องเสียภาษีโดยการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 อยู่แล้วตอนปลายปี แต่หากมีรายได้จากการขายของออนไลน์ด้วย ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่คงที่ มีรายรับเข้ามาไม่เท่ากันในแต่ละเดือน จึงต้องมีการนำส่ง ภ.ง.ด.94 เพื่อคำนวณภาษีจากรายได้ก่อนในช่วงครึ่งปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการเสียภาษีในครั้งเดียวนั่นเอง เพราะหากพ่อค้าแม่ค้าไม่ยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด.94 รายได้ทั้งหมดจะถูกนำไปรวมกับภาษีบุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 และต้องจ่ายภาษีหนักในครั้งเดียว

     ภ.ง.ด.94 คำนวณภาษีอย่างไร?

     สำหรับการคำนวณการเสียภาษีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์นั้นสามารถแบ่งการหักค่าลดหย่อนภาษีออกเป็น 2 วิธี ได้แก่ การหักตามจริง และแบบเหมา 60% โดยการหักค่าใช้จ่ายตามจริงนั้น จะเหมาะกับผู้ที่มีต้นทุนของสินค้าที่สูง ซึ่งหากมีต้นทุนสูงแล้ว ค่าใช้จ่ายที่นำมาหักก็จะสูงตามไปด้วย ส่วนแบบเหมา 60% นั้นจะเหมาะกับผู้ขายที่มีต้นทุนของสินค้าต่ำ และมีกำไรสูง ซึ่งการหักแบบเหมานี้ ผู้ขายไม่จำเป็นต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใด ๆ นั่นเอง

     ขายของออนไลน์ยื่น ภ.ง.ด.94 ตอนไหน?

     หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์มีรายได้ตลอดทั้งปี จำเป็นต้องยื่นเสียภาษี 2 รอบใน 1 ปี โดยแบ่งเป็น

     ตัวอย่าง การยื่นภาษีในปี 2565
• รอบที่ 1 ยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) โดยรวมเงินได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย.65 ยื่นภาษีได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย.65
• รอบที่ 2 ยื่นภาษีปลายปี (ภ.ง.ด.90) โดยรวมเงินได้ตั้งแต่ 1 ม.ค. – 31 ธ.ค.65 ยื่นภาษีได้ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. – 31 มี.ค.66

     จะเห็นได้ว่าการยื่นภาษีกลางปี ภ.ง.ด.94 นั้นจะช่วยแบ่งเบาภาระการเสียภาษีหนักในครั้งเดียวตอนปลายปีได้มากเลยทีเดียว ทั้งนี้หากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์คนไหนที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีอาจต้องจ่าย “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” ด้วยโดยต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นภาษีทุก ๆ เดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และมีหน้าที่ต้องออก “ใบกำกับภาษี” ให้กับผู้มาใช้บริการด้วยเช่นกัน

     ยื่นภาษีช่องทางไหนได้บ้าง

     สำหรับช่องทางการ “ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” มี 2 ทางเลือกคือ
- ช่องทางที่ 1 เตรียมเอกสารแบบกระดาษ เดินทางไปยื่นภาษีด้วยตัวเองที่กรมสรรพากรในเวลาราชการ
- ช่องทางที่ 2 การยื่นภาษีในช่องทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร (www.rd.go.th) สำหรับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90/91/94 สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เว้นวันหยุดราชการ การยื่นภาษีผ่านช่องทางออนไลน์นอกจากจะสะดวกรวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางแล้ว ยัง

     จะได้รับสิทธิพิเศษให้ขยายเวลายื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีช้าออกไปกว่าการยื่นแบบกระดาษอีกด้วย ทั้งนี้จะขึ้นอยู่กับกรมสรรพากรประกาศในแต่ละปี

     เป็นไงกันบ้างค่ะสำหรับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่อาจจะหวาดกลัวกับคำว่า “เสียภาษี” มาตลอดแต่ในความเป็นจริงแล้วบุคคลธรรมดาที่มีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นช่องทางใดก็ตามก็ควรจะมีหน้าที่ในการเสียภาษีด้วยกันทั้งนั้น ทั้งนี้การเสียภาษีแบบ ภ.ง.ด.94 จะช่วยเอื้อประโยชน์ให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้แบ่งเบาภาระการเสียภาษีหนักในครั้งเดียวได้อย่างดี

 

 

บทความโดย : นางสาวปิยวรรณ ปาสา ประจำสำนักคณะกรรมการบริหาร

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กรมสรรพากร