อย่างที่เคยกล่าวไปว่า AEC เป็นเรื่องที่จะไม่เรียนรู้ไม่ได้แล้ว แต่เมื่อรู้แล้วก็ต้องเรียนรู้ให้ครบถ้วนถูกต้อง ซึ่งที่ผ่านมาทุกฝ่าย ทุกภาคส่วนต่างกระจายข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ให้ทุกท่านตื่นตัวกับเหตุการณ์จนบางครั้งหลายท่านเกิดความตระหนก มากกว่าที่จะตระหนัก ดังนั้นแล้วหลักความระมัดระวังสำหรับนักบัญชีจึงเป็นเหตุและผลที่ดีที่สุดในการเตรียมความพร้อมกับทุกสถานการณ์ ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ไม่อาจล่วงรู้ได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง
บทความที่ผ่านมาผมได้หยิบเอาเรื่อง AEC Blueprint มาเล่าสู่กันฟังเป็นเรื่องของแผนบูรณาการตัวที่หนึ่ง การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวกัน (Single Market and Production Base) สำหรับบทความนี้เป็นตอนที่ 2 ซึ่งแผนบูรณาการส่วนที่จะนำเสนอต่อไปนี้ก็เป็นยุทธศาสตร์ที่ AEC เร่งดำเนินการขับเคลื่อนเช่นกัน มาเริ่มเรียนรู้ร่วมกันเลยดีกว่าครับ
แผนบูรณาการตัวที่สอง ได้พูดถึงการเป็นภูมิภาคที่มีความสามารถในการแข่งขัน สำหรับแผนบูรณาการนี้ต้องบอกแบบนี้ว่า เป็นเป้าหมายสำคัญของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอาเซียนเลยครับ พูดกันแบบง่าย ๆ ก็คือ เป็นแผนการระดมสรรพกำลังเพื่อให้มีความสามารถในการแข่งขันที่สูง เพื่อสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งภายใต้แผนบูรณาการนี้ได้มีการกำหนดองค์ประกอบที่มีความสำคัญหลายสิ่งด้วยกัน เช่น กรอบนโยบายการแข่งขันของอาเซียน สิทธิในทรัพย์สินทางปัญหา นโยบายภาษี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (อาทิ การเงิน การขนส่ง เทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น) ซึ่งบรรดาผู้รู้ทั้งหลายก็ได้ให้ความเห็นกันว่า เมื่อแผนบูรณาการนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วจะทำให้การแข่งขันเกิดความเท่าเทียมกัน และสร้างวัฒนธรรมการแข่งขันภาคธุรกิจที่เป็นธรรม มากยิ่งขึ้น ซึ่งในที่สุดแล้วก็จะนำไปสู่การเสริมสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคระยะยาวได้ในอนาคต (ฟังดูยิ่งใหญ่มากเลยครับ ถ้าทำสำเร็จขึ้นมาจริง ๆ)
แผนบูรณาการตัวที่สาม การเป็นภูมิภาคที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เท่าเทียมกัน สำหรับแผนบูรณาการนี้ได้ถูกวางรูปแบบให้เป็นแผนสำหรับส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของสมาชิก ประกอบกับเพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนาระหว่างสมาชิกเก่า และสมาชิกใหม่ (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เพื่อให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (ซึ่งแต่ตั้งแต่เดิม ผู้ประกอบการแต่ละประเทศเองดูเหมือนจะมีช่องว่างกันอยู่
ก็แนว ๆ ประเทศนั้นดีกว่าประเทศนี้ ประเทศนี้สู้ประเทศนั้น ไม่ได้ ผมว่าแผนนี้ดีนะจะได้เท่าเทียม ทัดเทียมกันซะที)
สำหรับแผนบูรณาการที่สามนี้ ยุทธศาสตร์หนึ่งที่เป็นจุดเด่น และได้รับความสนใจก็คือ กลุ่มของ SMEs ซึ่งจากที่ผมได้ศึกษาแล้วขอนำมาแบ่งปันอย่างนี้ครับว่า SMEs มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจากการประเมินโดยสำนักงานเลขาธิการอาเซียน พบว่า SMEs ในอาเซียนนั้นมีมากถึงร้อยละ 96 ของธุรกิจทั้งหมด และ
มีสัดส่วนการจ้างงานอยู่ร้อยละ 50-85 ของการจ้างงานรวมในประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบกับรายได้ที่เกิดจากธุรกิจ SMEs ยังมีสัดส่วน (GDP) ร้อยละ 30-53 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ และสัดส่วนร้อยละ 9-31 ของการส่งออกรวม (และแล้วก็มาถึงบางอ้อ. . . เห็นไหมครับว่า AEC เขาเห็นความสำคัญของชาว SMEs กันจริง ๆ เพราะถึงแม้จะเป็นเพียงธุรกิจเล็ก ๆ แต่ก็เล็กพริกขี้หนู นะครับ แต่จริง ๆ ความคิดเห็นส่วนตัว คือ AEC ตั้งใจจะให้ความสำคัญกับทุกธุรกิจจริง ๆ ไม่ว่าคุณจะเล็ก หรือใหญ่ ทุกภาคส่วนก็คือฟันเฟืองที่สำคัญเช่นเดียวกัน ซึ่งอนาคตข้างหน้า คุณจะได้ไปต่อ หรือต้องออกไปจากแวดวงธุรกิจ ก็ต้องอยู่ที่ว่าคุณจะสามารถหาช่องทางทางการค้าการลงทุนได้มากน้อยเพียงใดอันนี้ก็ถือเป็นโจทย์สำคัญในการที่จะต้องนำไปคิดทบทวนอีกเช่นกัน)
แผนบูรณาการตัวที่สี่ การเป็นภูมิภาคที่มีการบูรณาการเข้ากับเศรษฐกิจโลก ซึ่งหลักใหญ่ใจความของแผนงานนี้เป็นแผนงานที่จะส่งเสริมการรวมกลุ่มเข้ากับประชาคมโลก โดยเน้นหนักที่การปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจของอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค เช่นการจัดทำเขตการค้าเสรี และการสร้างเครือข่ายในด้านการผลิต จำหน่าย ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ได้มีการลงนามกรอบความตกลงร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน ไปกับหลายประเทศ อาทิ กรอบความตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน-จีน, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ เป็นต้น
ซึ่งจะว่าไปแล้วตลอดเวลาตั้งแต่มีการเปิดตัว AEC การผลักดันเรื่อง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ก็เริ่มมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2535 โดยได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น และนับแต่นั้นมากิจกรรมของอาเซียนได้ขยายครอบคลุมไปสู่ทุกสาขาหลักทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในด้านการค้าสินค้าและบริการการลงทุน มาตรฐานอุตสาหกรรมและการเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่ง พลังงาน และการเงินการคลัง เป็นต้น เห็นไหมครับว่าทั้งหมดนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ข้ามคืน แต่ถูกผลักดัน และสานต่องานมาอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้เชื่อหรือยังครับว่า เรารู้ช้ากว่านี้อาจพลาดโอกาสที่สำคัญของธุรกิจไปก็ได้
จากที่ได้อรรถาธิบายเกี่ยวกับ AEC Blueprint มาถึงจุดนี้ ด้วยเนื้อหาที่แลดูหนัก เต็มไปด้วยสาระที่เป็นเพียงแค่ส่วนที่สรุปใจความสำคัญเท่านั้นครับ ซึ่งผมแนะนำว่านักบัญชีทุกท่านเองก็ควรที่จะต้องเรียนรู้เพิ่มเติม ประกอบกับรายละเอียดปลีกย่อยที่ยังมีอีกมากมาย ฉบับต่อไปผมจะหยิบเรื่องใดมาเล่าสู่กันฟังอีก ฝากติดตามผลงานกันได้ในฉบับต่อไปนะครับ สำหรับวันนี้ฝากภาพที่แฝงด้วยแง่คิดดีจาก AEC Geek ไว้ให้ขบคิดกันด้วยนะครับ ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับทุกย่างก้าวของการเติบโต ของ AEC กูมุสตา. . .