"ชูชัย" หนุนให้ผู้สมัคร ส.ส.เปิดเผยภาษีเงินได้ "ประมนต์" บอกร่างฯ มีส่วนดี ชี้มีศาลทุจริต ทำคดีเร็วขึ้น ขณะที่ "บิ๊กกุ้ย" ยอมรับการบังคับใช้ ก.ม. ป.ป.ช.ล่าช้า เพราะขาดคนเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้าน "บดินทร์" ชมเปาะ รธน.ต้านโกง-ปราบคอร์รัปชัน ป้องเหลือบนักการเมือง
เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่โรงแรมเรเนสซองส์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประเทศไทย จัดเสวนา "รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กับการต่อสู้คอร์รัปชันจริงใจหรือไก่กา?" โดย นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน กล่าวว่า เมื่อดูร่างรัฐธรรมนูญโดยรวม หากผ่านไปได้น่าจะเป็นฉบับที่ดีที่สุดในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้หน่วยงานจัดตั้งศูนย์ประสานงานในกรณีที่มีปัญหาจะได้มีการทำความเข้าใจ ในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ในกฎหมายลูกมีหลายอย่างที่ปรับปรุงได้จะทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ต้องอิสระ ตรวจสอบทุกคนได้ สร้างความอิสระมีเกราะคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าการป้องกันการทุจริตต้องมาจากผู้นำของประเทศต้องตั้งใจจริงจัง กระบวนการต่อต้านการทุจริตไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายพวกนี้ หากผู้นำประเทศมีความสำนึกรับผิดชอบและละอาย
ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า อำนาจรัฐเป็นห้องๆ หนึ่งให้เป็นห้องโปร่งใส ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเข้มข้นในเรื่องคุณสมบัติ ตนขอเสนอให้ผู้สมัครเลือกตั้งมีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและยื่นแบบสำเนาภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปี ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญ และคนจำนวนไม่น้อยอาจถอย เนื่องจากหากพบการทุจริตหลังเลือกตั้งแล้วจะพ้นจากตำแหน่งทันที ขณะเดียวกันขอให้คณะกรรมการป้องและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) มีมีอิสระเหมือน ป.ป.ช. พร้อมตั้งศาลวินัยการคลังและงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาการใช้เงินแผ่นดิน ส่วนคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ให้สามารถชี้มูลเพื่อหยุดยั้งความเสียหายจากการใช้งบประมาณของรัฐบาลและยื่นต่อศาลปกครองได้ทันที รวมทั้งปรับพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารให้อยู่ภายใต้ผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อสามารถเปิดเผยได้ทันที และขอให้บัญญัติให้สังคมมีความเข้มแข็งสามารถตรวจสอบได้ ต้องเขียนในหน้าที่ของปวงชนชาวไทย มีหน้าที่การป้องกันต่อต้านการทุจริต พร้อมเพิ่มหน้าที่ของรัฐ คือส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และสร้างความเป็นพลเมืองให้เกิดสมัชชาพลเมือง พื้นที่สาธารณะที่ประชาชนสามารถหารือกันได้
ด้าน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า งบประมาณปี 2559 กระบวนการของบประมาณ องค์กรอิสระให้ผลักดันเป็นเปอร์เซ็นต์ของงบประมาณแผ่นดิน แล้วเราจะมาบริหารจัดการ แต่ขณะนี้ให้งบประมาณด้านบุคลากรและงบดำเนินการ แต่ไม่มีการให้ความสำคัญในงบประมาณสำหรับการป้องกันการทุจริต ซึ่งกำลังทำแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะที่ 2 จะครอบคลุมการป้องกันและปราบปราม สร้างการรับรู้ งบประมาณปี 2560 เพิ่มอีก 400 ล้านบาท ตนมองว่าหากจะทำให้สำเร็จ ต้องอาศัยทุกภาคส่วน
ส่วน นายบดินทร์ อัศวาณิชย์ ประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยกีดกันนักการเมืองที่ทุจริต ซึ่งถือเป็นฉบับที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ แต่บทบัญญัติที่มีปัญหาในขณะนี้อยู่ที่ความเหมาะสมในการร่าง โดยส่วนตัวมีความหวังมากที่สุดที่เคยมีมา เนื่องจากนักการเมืองที่เคยมีการทุจริตไม่สามารถเข้ามาในระบบได้ เนื่องจากในรัฐธรรมนูญได้มีการสร้างมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัดและคิดว่าจะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนที่เป็นจุดอ่อน ได้เสนอมาตรการที่หลายๆ ประเทศมีการนำมาใช้ คือ ประชาชนสามารถร้องเรียน และตรวจสอบนักการเมืองได้ ทั้งนี้ ส่วนตัวค่อนข้างมีความพอใจกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และร่างค่อนข้างมีความสมบูรณ์ หากมีการปรับปรุงรับข้อเสนอแนะให้ดียิ่งขึ้นก็จะเป็นการดี พร้อมสนับสนุนให้รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ
ที่มา-ไทยรัฐออนไลน์