“เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด การบริโภคภาคเอกชนที่มีมูลค่ามากขึ้นจากมาตรการช้อปช่วยชาติ การลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ดี ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ดี”
นายวโรทัย โกศลพิศิษฐ์กุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด การบริโภคภาคเอกชนที่มีมูลค่ามากขึ้นจากมาตรการช้อปช่วยชาติ การลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ดี ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ดี” โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายร้อยละ 5.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ จากมาตรการช้อปช่วยชาติที่มีส่วนทำให้การจับจ่ายใช้สอยขยายตัวมากขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 5.0 ต่อปี นอกจากนี้ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่ต้นปี โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.7 ต่อปี โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.9 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในเขตกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 13.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 66.2 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออก การท่องเที่ยวที่ขยายตัวในอัตราสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 65.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากช่วงก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี เช่นเดียวกับ ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นมากทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี สะท้อนภาคก่อสร้างภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมีแนวโน้มทยอยปรับตัวดีขึ้น
อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้า ในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าเกษตรกรรม เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 อินเดีย จีน อินโดจีน (CLMV) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มูลค่าการส่งออกสินค้า ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.6 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2560 ขาดดุลจำนวน -0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดุลการค้ายังคงเกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยในเดือนธันวาคม 2560 มีจำนวน 3.53 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.91 แสนล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดีมาจาก จีน รัสเซีย อินเดีย กัมพูชา ลาว และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 9.28 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนธันวาคม 2560 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 89.1 จากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่จะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุน ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 85.2
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ระดับร้อยละ 0.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ โดยในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 และ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 41.7 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 202.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.4 เท่า
รายละเอียดปรากฎตามเอกสารแนบ
เอกสารแนบ
“เศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม และไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเฉพาะด้านอุปสงค์ที่ขยายตัวได้ดีจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดีเกือบทุกตลาด การบริโภคภาคเอกชนที่มีมูลค่ามากขึ้นจากมาตรการช้อปช่วยชาติ การลงทุนภาคเอกชนที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่วนในด้านอุปทาน พบว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวในระดับสูง ดัชนีผลผลิตการเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ดี ประกอบกับความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง ปัจจัยดังกล่าวเอื้อให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวได้ดี”
1. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายร้อยละ 5.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อเดือน ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ จากมาตรการช้อปช่วยชาติที่มีส่วนทำให้การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.0 ต่อปี สำหรับปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 นับตั้งแต่ต้นปี และขยายตัวสูงถึงร้อยละ 40.7 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 7.3 ต่อเดือน โดยเป็นผลจากการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ที่ออกสู่ตลาดในช่วงปลายปีของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 33.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 10.3 ต่อไตรมาส สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกันโดยขยายตัวร้อยละ 11.9 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 10.0 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อไตรมาส ขณะที่ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวในเขตกรุงเทพฯ สูงถึงร้อยละ 13.9 ต่อปี สำหรับเขตภูมิภาคหดตัว ร้อยละ -1.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ขยายตัวเร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.4 ต่อไตรมาส นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงในเดือนธันวาคม 2560 หดตัวร้อยละ -4.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 รายได้เกษตรกรที่แท้จริงหดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี แต่เป็นการหดตัวชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 66.2 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 เป็นต้นมา เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออก การท่องเที่ยวที่ขยายตัวในอัตราสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 65.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า
2. เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทั้งจากการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดก่อสร้างที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศ สะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 6.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) ขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อไตรมาส ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 5.5 ต่อเดือน จากยอดจำหน่ายรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 8.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 9.5 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้า ในขณะที่การลงทุนในหมวดก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.1 ต่อไตรมาส ขณะที่ภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในเดือนธันวาคม 2560 กลับมาหดตัวร้อยละ -8.9 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์หดตัวร้อยละ -0.8 ต่อปี สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือนธันวาคม 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ต่อปี โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเพิ่มขึ้นของดัชนีราคาหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 10.1 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี
3. การใช้จ่ายงบประมาณ สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนธันวาคม 2560 เบิกจ่ายได้จำนวน 288.9 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 262.6 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 226.8 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 35.8 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 26.3 พันล้านบาท ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 (ไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ 2561) รายจ่ายรัฐบาลรวมเบิกจ่ายได้จำนวน 967.5 พันล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 897.8 พันล้านบาท แบ่งเป็นการเบิกจ่ายประจำ 810.6 พันล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 32.2 พันล้านบาท และเป็นการเบิกจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 69.7 พันล้านบาท
4. อุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกสินค้าขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ติดต่อกัน โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือนธันวาคม 2560 มีมูลค่า 19.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อปี โดยหมวดสินค้าสำคัญที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง ยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ และสินค้าเกษตรกรรม เป็นต้น ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวได้ดี เช่น อาเซียน-9 อินเดีย จีน อินโดจีน (CLMV) สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มูลค่าการส่งออกสินค้ามีมูลค่า 61.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.7 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาส ก่อนหน้า สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือนธันวาคม 2560 มีมูลค่า 20.0 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 16.6 ต่อปี โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ วัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ทองคำ สินค้าแร่และเชื้อเพลิง สินค้าทุน และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 มูลค่าการนำเข้ามีมูลค่า 59.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 14.6 ต่อปี ทั้งนี้ ผลของมูลค่าการส่งออกสินค้าที่น้อยกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนธันวาคม 2560 ขาดดุลจำนวน -0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดุลการค้ายังคงเกินดุล 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
5. เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ขยายตัวในระดับสูง โดยในเดือนธันวาคม 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทย มีจำนวน 3.53 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 15.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 1.7 ต่อเดือน ส่งผลทำให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวน 1.91 แสนล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 21.0 ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวที่ขยายตัวได้ดี มาจาก จีน รัสเซีย อินเดีย กัมพูชา ลาว และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ทำให้ไตรมาสที่ 3 ปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 9.28 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (q-o-q SA) ขยายตัวร้อยละ 0.1 ต่อไตรมาส สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2560 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 ต่อปี และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 3.2 ต่อเดือน เป็นผลจากหมวดพืชผลสำคัญ และหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 และ 5.5 ต่อปี ตามลำดับ ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนธันวาคม 2560 หดตัวร้อยละ -10.6 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวของราคาในหมวดพืชผลสำคัญ จากราคายางพารา และราคาปาล์มน้ำมัน หมวดปศุสัตว์ จากราคาสุกร และราคาไข่ไก่จากผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดมาก ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวร้อยละ -6.1 ต่อปี ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (TISI) ในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 89.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นจากงานมอเตอร์เอ็กซ์โปร 2017 รวมทั้งสินค้าที่เกี่ยวกับของขวัญของฝากในช่วงเทศกาลปีใหม่ ประกอบกับการฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าจะส่งผลดีต่อการค้าและการลงทุน ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 87.3
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และเสถียรภาพภายนอกอยู่ในระดับที่มั่นคง สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยสาเหตุสำคัญมาจากการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด เช่น เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.6 ต่อปี ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 และ 0.6 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม ทำให้ไตรมาสที่ 4 ปี 2560 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2560 อยู่ที่ร้อยละ 41.7 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2560 อยู่ที่ระดับ 202.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น 3.4 เท่า
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง