ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง กับการลงทุนเกี่ยวกับเงินดิจิทัล (คริปโตเคอเรนซี) ที่ล่าสุด นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน บมจ.ธนาคารกรุงไทย (KTB) ถึงขั้นเตรียมหารือและสั่งการให้ฝ่ายบริหารของธนาคารหยุดทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซีของตลาด Tdax ผ่านระบบบัญชีของธนาคาร หลังจากที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกหนังสือขอความร่วมมือไปยังธนาคารพาณิชย์ให้หยุดการดำเนินการธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี
ทาง ธปท.ได้ออกประกาศขอความร่วมมือสถาบันการเงินทุกแห่ง ไม่ให้ทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี เนื่องจากวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยคริปโตเคอเรนซีบางประเภทไม่สามารถระบุผู้ออกได้อย่างชัดเจน ไม่มีสินทรัพย์ค้ำประกันตามมูลค่าหรือไม่ และราคามีความผันผวนสูงมาจากการเก็งกำไร ผู้ทำธุรกรรมจึงมีความเสี่ยงจากการขาดทุนสูง รวมทั้งไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายในระยะเวลาอันรวดเร็วได้
และยืนยันว่าในไทย คริปโตเคอเรนซียังไม่มีคุณสมบัติเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย และยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานใดเป็นการเฉพาะ ผู้ทำธุรกรรมอาจไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ใช้บริการทางการเงินในกรณีถูกหลอกลวงหรือเกิดปัญหาในการทำธุรกรรม
นอกจากนี้ ธปท.ขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งเพิ่มความระมัดระวังการให้บริการด้านเงินฝากและด้านสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชี หรือการใช้บัญชีที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอเรนซี โดยขอให้สถาบันการเงินถือปฏิบัติในเรื่องการรู้จักตัวตนของลูกค้า (Know Your Customer : KYC) และตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (Customer Due Diligence : CDD) อย่างเคร่งครัด
ถือว่า ธปท.ได้ออกมากำชับและตักเตือน ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงแล้ว จากนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับผู้ลงทุนเองว่าจะพิจารณาลงทุนอย่างไรให้เหมาะสม เพราะปัจจุบันเริ่มทยอยระดมทุนด้วยวิธีเสนอขายเหรียญดิจิทัลให้คนทั่วไป (ไอซีโอ) ออกมาอย่างต่อเนื่อง แม้เกณฑ์การกำกับดูแลจะยังไม่ออกมาก็ตาม ก็ยังคงออกมาก่อนเกณฑ์ และที่สำคัญมั่นใจกันมากว่าจะตรงตามเกณฑ์แน่นอน
ความเคลื่อนไหวล่าสุดของบริษัทที่จะออกไอซีโอ คือ สต๊อกเรดาร์ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชันสต๊อกเรดาร์ สำหรับวิเคราะห์และติดตามราคาหุ้น เตรียมไอซีโอ ภายใต้ชื่อคาร์บอเนียม โทเคน จำนวน 12 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 400 ล้านบาท คิดเป็น 120 ล้านโทเคน เสนอขายหน่วยละ 0.10 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณโทเคนละ 3.30 บาท
ทั้งนี้ เงินที่ระดมทุนจะนำไปใช้พัฒนาระบบโซเชียล เทรดดิ้ง ผ่านคอยน์เรดาร์ ซึ่งเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถซื้อขายสกุลเงินดิจิทัลตามการซื้อขายของผู้เชี่ยวชาญด้านเทรดดิ้งโดยอัตโนมัติ และคิดค่าธรรมเนียมในการติดตามเมื่อได้กำไรในอัตรา 10% โดยจะเสนอขายวันที่ 22 มี.ค.61 และเปิดขายจริง 22 เม.ย.61 และเมื่อปิดการขายอีก 3 เดือน จะนำเข้าซื้อขายในตลาดต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ ส่วนระบบโซเชียล เทรดดิ้ง คาดว่าจะสมบูรณ์แบบและเปิดให้บริการได้ในปี 62
ด้าน บมจ.โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) อยู่ระหว่างศึกษาเตรียมความพร้อมทำไอซีโอ ที่มีชื่อว่า ProfinCoin โดยมีสัดส่วน 1 ProfinCoin ต่อ 1 บาทตลอดเวลา และมีเป้าหมายในการเสนอขายระยะแรกจำนวน 500 ล้านบาท ซึ่งเป็นไอซีโอประเภทที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง (Asset backed) รายแรกของไทย สำหรับเงินที่ได้จะนำมาปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการก่อสร้างที่มีลูกหนี้เป็นสินทรัพย์ค้ำประกัน
และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ มีแนวคิดจัดตั้งกองทุนคริปโตเคอเรนซีฟันด์ เพื่อไปลงทุนในคริปโตเคอเรนซี โดยช่วงแรกอาจจะลงทุนในบิทคอยน์ฟิวเจอร์ ผ่านตลาดซื้อขายล่วงหน้าในต่างประเทศ ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมเสนอเกณฑ์การกำกับดูแลไอซีโอ สำหรับการออกและเสนอขายดิจิทัลโทเคนที่เข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ ให้คณะกรรมการพิจารณาในวันที่ 8 มี.ค.นี้ หลังจากที่ผ่านมาได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็น (เฮียริ่ง) จนเสร็จมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
อีกไม่กี่อึดใจเท่านั้นที่เกณฑ์การกำกับดูแลจะคลอดออกมาเป็นรูปธรรม หากนักลงทุนที่อยากจะลองกระโดดลงไปแจมไอซีโอดูว่ามันคุ้มหรือไม่ ก็ควรจะรอเกณฑ์คุ้มครองออกมาก่อนจะดีกว่า เพราะหากเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยก็ยังหาทางได้คืนบ้างก็ยังดี.
ที่มา : ปฏิญญา สิงห์พิสาร