สำหรับคนที่กำลังคิดจะลาออกจากงาน หรือออกจากงานมาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการลาออกเอง ถูกเลิกจ้าง หรือเกษียณอายุ เงินที่ได้รับและภาษีที่เกิดขึ้นมีอะไรบ้าง และต้องจัดการอย่างไร เราลองมาดูกันค่ะ
1. เงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเงินก้อนที่จะได้รับคืนในทุกกรณีเมื่อออกจากงาน ซึ่งทางเลือกในการจัดการมีหลายวิธี เช่น
• เก็บเงินไว้ในกองทุนต่อไป จนกว่าจะได้งานใหม่ และโอนย้ายเข้ากองทุนของที่ทำงานใหม่ อายุสมาชิกกองทุนจะนับต่อไปเรื่อยๆ และไม่ต้องเสียภาษี เท่าที่ยังไม่ถอนเงินออกมา
• ถอนเงินออกมาใช้เลย ซึ่งเงินที่ได้นั้นแบ่งเป็น
1. เงินสะสมที่เราจ่ายเข้ากองทุน
2. เงินสมทบ จากนายจ้าง
3. ผลประโยชน์เงินสะสม
4. ผลประโยชน์เงินสมทบ
เงินได้เฉพาะข้อ 1. เท่านั้นที่ไม่ต้องนำมาเสียภาษี ส่วนเงินได้ตามข้อ 2-4 ต้องนำมาเสียภาษี จะได้รับยกเว้นภาษีก็ต่อเมื่อเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์
• ย้ายไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ทำให้ไม่ต้องเสียภาษี เพราะยังไม่มีการถอนเงินออกมา แต่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันจากวันสิ้นสภาพสมาชิกกองทุนฯ
2. เงินค่าชดเชย จะมีสิทธิได้รับกรณีถูกเลิกจ้าง โดยลูกจ้างไม่มีความผิด โดยค่าชดเชย 300,000 บาทแรกที่ได้รับ จะได้รับการยกเว้นไม่เสียภาษี กรณีเกษียณอายุ ค่าชดเชยที่ได้รับจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่ถ้าเป็นการสมัครใจลาออกเอง ก็จะไม่ได้รับเงินค่าชดเชยใดๆ จากนายจ้าง
3. เงินได้อื่นๆ ที่ได้รับนอกเหนือจากค่าชดเชยและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เช่น เงินจากวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่เหลืออยู่ หรือเงินเดือนที่ค้างจนถึงวันที่ลาออก ต้องนำรายได้ไปรวมเสียภาษีแบบเดียวกับเงินเดือน
4. เงินชดเชยกรณีว่างงานจากประกันสังคม ในกรณีที่จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนว่างงาน กรณีลาออกเอง จะได้รับเงินชดเชยในอัตรา 30% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน กรณีถูกเลิกจ้าง จะได้รับเงินชดเชยในอัตรา 50% ของค่าจ้างไม่เกิน 180 วัน