เมื่อวันที่ 24 ก.พ. พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2558 ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ฉบับที่ ..) พ.ศ... ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่ออกเมื่อ พ.ศ. 2530 เพื่อให้เกิดความคล่องตัวที่เกิดปัญหาอุปสรรคเพื่อให้ลูกจ้างมีเงินออมเพียงพอเอาไว้ใช้ยามชรา
ทั้งนี้มีประเด็นแก้ไข 6 ประเด็น คือ
1.แก้ไขเพิ่มเติมให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกจ้างสามารถจ่ายเงินสะสมในอัตราที่สูงขึ้นได้โดยที่นายจ้างไม่จำต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น เนื่องจากตามกฎหมายเดิมกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุน จึงเป็นอุปสรรคทำให้ลูกจ้างไม่สามารถออมเงินเพิ่มขึ้นได้ หากนายจ้างไม่ประสงค์จะจ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้น
2.กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกประกาศให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสมหรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราวได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่มีการแก้ไขส่วนนี้ เนื่องจากตามกฎหมายเดิมไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้าง สามารถหยุดหรือเลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนได้ ในกรณีที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หรือสาธารณภัย หรือเหตุการณ์ใดๆที่ร้ายแรง ที่มีผลให้ลูกจ้างไม่สามารถจ่ายเงินสะสม หรือนายจ้างไม่สามารถส่งเงินสมทบเข้ากองทุนได้ตามปกติ ส่งผลให้ลูกจ้างจำเป็นต้องลาออกจากกองทุน ขณะที่นายจ้างบางรายขอยกเลิกกองทุนไปเลย
3.แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการนำเงินสะสมและเงินสมทบไปลงทุนหรือหาผลประโยชน์สำหรับลูกจ้างที่ไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุนไว้ จากเดิมที่การลงทุนหาผลประโยชน์ตอบแทนของกองทุน ในกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้แสดงเจตนาเลือกนโยบายการลงทุนไว้ ผู้จัดการกองทุนจะนำเงินไปลงทุนได้เฉพาะนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งนโยบายที่มีความเสี่ยงน้อย จะส่งผลกระทบต่อเงินออมที่สมาชิกจะมีใช้ในวัยเกษียณอายุ และอาจจะไม่เหมาะสมกับช่วงอายุของสมาชิก
4.แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการบันทึกรายได้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในกองทุนหลายนายจ้าง ซึ่งการแก้ไขส่วนนี้เพื่อแก้ไขอุปสรรคจากการบันทึกรายได้กรณีที่มีหลายนายจ้างแต่เป็นบริษัทอยู่ในเครือเดียวกัน ซึ่งตามปกติมีการโอนย้ายลูกจ้างไปมาระหว่างกันจำนวนมากได้รับภาระจากการกำหนดให้บันทึกรายได้ ค่าใช้จ่ายแยกตามรายนายจ้างและมีลูกจ้างบางรายเสียประโยชน์จากการกำหนดให้บันทึกรายได้ ค่าใช้จ่ายแยกตามส่วนได้ส่วนเสียของลูกจ้าง ดังนั้นกฎหมายใหม่จึงได้ปรับปรุงเกี่ยวกับทางเลือกในการบันทึกรายได้ของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยให้บันทึกรายได้ในส่วนที่ไม่ได้เกิดจากการลงทุนตามส่วนได้ส่วนเสียของลูกจ้าง หรือบันทึกเฉลี่ยตามจำนวนลูกจ้างของนายจ้างรายใดรายหนึ่งหรือหลายรายก็ได้ ซึ่งจะช่วยให้กองทุนสามารถเลือกวิธีการบันทึกบัญชีให้สอดคล้องกับลักษณะของกองทุน เพื่อลดภาระในการบันทึกบัญชีและมีการจัดสรรรายได้และค่าใช้จ่ายสำหรับสมาชิกแต่ละรายอย่างสมเหตุสมผล
5.แก้ไขเพิ่มเติมให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพเพราะออกจากงานเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์สามารถขอรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นงวดได้ เนื่องจากตามกฎหมายเดิมหากหากลูกจ้างลาออกจากงานถือว่าสิ้นสมาชิกภาพของกองทุนโดยที่ยังไม่เกษียณ จะต้องนำเงินออกจากกองทุนทั้งหมดในคราวเดียวกัน แต่จากการแก้ไขกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้สามารถแสดงเจตนาขอรับเงินออกจากกองทุนเป็นงวดได้ เช่นเดียวกับลูกจ้างที่เกษียณอายุ จะเป็นการสนับสนุนให้ลูกจ้างที่มีอายุไม่น้อยกว่า 55 ปี ที่ออกจากงานมีเงินดำรงชีพได้อย่างต่อเนื่อง
6.เพิ่มการกำหนดให้ลูกจ้างที่สิ้นสมาชิกภาพสามารถโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนอื่นทีมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นหลักประกันในกรณีการออกจากงานหรือการชราภาพได้ เพื่อช่วยให้ลูกจ้างได้มีการออมเพื่อการชราภาพอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีการยกเลิกกองทุนที่ลูกจ้างเป็นสมาชิกอยู่ หรือการถูกให้ออกจากงานและไม่สามารถหางานใหม่ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่ต้องการให้แรงงานได้ออมเงินไว้ใช้เมื่อเกษียณอายุ
สำหรับขั้นตอนต่อไป ให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(คปช.) ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป
นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง กล่าวว่า จะนำเรื่องกองทุนการออมแห่งชาตินำเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจพิจารณา โดยจะมีการหารือถึงกรณีดึงสถาบันการเงินของรัฐที่มีสาขากระจายไปทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ มาเป็นเครือข่ายในการเดินหน้ากองทุนด้วย
ที่มา-posttoday