เมื่อวานนี้เวลา 13.00 น. โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ได้สรุปผลการเดินทางของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (3WCDRR) ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเซนได เมืองเซนได ญี่ปุ่น ตามคำเชิญของเลขาธิการสหประชาชาติและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะที่ไทยมีบทบาทนำและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการและการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้สรุปผลการเดินทางของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อเข้าร่วมประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 (3WCDRR) ระหว่างวันที่ 13-14 มีนาคม 2558 ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเซนได เมืองเซนได ญี่ปุ่น ตามคำเชิญของเลขาธิการสหประชาชาติและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในฐานะที่ไทยมีบทบาทนำและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศในการจัดการและการฟื้นตัวจากภัยพิบัติ ทั้งจากประสบการณ์ของไทยในกรณีภัยพิบัติขนาดใหญ่จากสึนามิในมหาสมุทรอินเดียเมื่อปี 2547 และมหาอุทกภัยในปี 2554 อีกทั้งไทยได้ให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ประเทศที่ประสบเหตุภัยพิบัติด้วย การเข้าร่วมประชุมฯในครั้งนี้จึงถือเป็นการยืนยันเจตนารมณ์ทางการเมืองของไทยที่มีต่อประชาคมระหว่างประเทศในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นรองประธานของการประชุม 3WCDRR ในโควต้ากลุ่มเอเชีย-แปซิฟิกซึ่งมีที่นั่งสำหรับสองประเทศ โดยได้มีหน้าที่สนับสนุนประธาน (ญี่ปุ่น) ในการดำเนินการประชุมอีกด้วย
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงในเวทีการประชุมสหประชาชาติระดับโลกว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 3 โดยแสดงความยินดีกับรัฐบาลและประชาชนชาวญี่ปุ่น ในนามของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยสำหรับการจัดการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ การมาเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้เพื่อแสดงความพร้อมและความตั้งใจจริงของรัฐบาลและประชาชนชาวไทยที่จะร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในทุกมิติในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามแผนเฮียวโกะซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานด้านการลดความเสี่ยงมาโดยตลอด และได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเตรียมการของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
บทเรียนจากเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ทำให้ไทยพบว่า การป้องกันคือการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด ดังนั้น รัฐบาลได้ผลักดันนโยบายพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างมีบูรณาการและยั่งยืนโดยเน้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดการทิ้งขยะในแม่น้ำ และขุดลอกคูคลองเพื่อการระบายน้ำที่ดี รวมถึงศึกษาแนวทางโครงการในพระราชดำริต่าง ๆ เช่น โครงการแก้มลิงเพื่อพักน้ำ เป็นต้น ไทยได้พัฒนาภูมิความรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งระดับชุมชนในการป้องกัน เฝ้าระวัง และรับมือภัยพิบัติ โดยยึดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เน้นเรื่องการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการสร้างความเข้มแข็งและภูมิต้านทานให้แก่ชุมชน
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงประสบการณ์ของไทยว่า เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ต้องมีการเตรียมการวางแผนไว้ก่อน เราจะต้องจัดให้มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นการเงิน สิ่งของ และการบริการทางการแพทย์ การจัดเส้นทางอพยพ พื้นที่รองรับผู้ประสบภัย การจัดให้มีเครื่องมือให้ความช่วยเหลือที่พร้อมและทันสมัย โดยคำนึงถึงกรอบกฎหมายภายใน และวัฒนธรรมท้องถิ่นของแต่ละประเทศ รวมทั้ง ต้องฝึกซ้อมการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนควรจัดทำทะเบียนทรัพยากรทั้งบุคคลและสิ่งของที่จะใช้ดำเนินงานความช่วยเหลือ ประเทศต่างๆ ควรพัฒนาเครือข่าย สายด่วน ช่องทางติดต่อระหว่างผู้นำ และจุดติดต่อสื่อสารเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล และการแจ้งเตือนภัยที่ทันเหตุการณ์และมีประสิทธิภาพ
ภาคเอกชนจะต้องลงทุนอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม การลงทุนจะต้องไม่ทำร้ายธรรมชาติ และไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อชนรุ่นหลัง ภาคประชาสังคมและนักวิชาการจะต้องช่วยสนับสนุนรัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงาน ความโปร่งใสและประสิทธิภาพในการดำเนินงานความช่วยเหลือ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เข้าร่วมในเวทีสาธารณะ ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานในรูปแบบของการเสวนาที่มหาวิทยาลัยโตโฮกุ เพื่อเสริมสร้างความต้านทานภัยพิบัติของชุมชน และนำแนวทางปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการเตรียมความพร้อมและรับมือกับภัยพิบัติ โดยมีตัวแทนชุมชนไทยที่ประสบภัยสึนามิในปี 2547 และชุมชนไทยที่น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชุมชน เล่าถึงประสบการณ์ตรงในการดำเนินงาน และกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับกระทรวงมหาดไทยจัดนิทรรศการที่ Sendai Mediatheque และเปิดตัวหนังสือที่ระลึกงานครบรอบ 10 ปีเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยสึนามิในมหาสมุทรอินเดีย
ในระหว่างการประชุม นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม WCDRR แสดงถึงความเชื่อมั่นในบทบาทนำของญี่ปุ่น ห้วงเวลาที่ผ่านมานี้ ได้พบกับนายกรัฐมนตรี อาเบะ 3 ครั้งแล้ว และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดของทั้งสองประเทศ ทั้งสองผู้นำได้ทบทวนความคืบหน้าในการดำเนินงานตามที่ได้มีการหารือไว้ โดยเฉพาะความร่วมมือระบบราง ที่จะเร่งผลักดันความร่วมมือตามบันทึกเจตนารมณ์ (MOI) เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยกระทรวงคมนาคมของไทย อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะทำงานระดับรัฐมนตรี สำหรับความร่วมมือด้านการบริหารจัดการน้ำ ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับญี่ปุ่น โดยขณะนี้ รัฐบาลได้ทบทวนโครงการบริหารจัดการน้ำใหม่ทั้งหมด และกำลังจะให้เปิดประมูลโครงการ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายนั้น ยินดีที่ญี่ปุ่นแสดงความสนใจ พร้อมเสนอให้มีการหารือระหว่างผู้นำสามฝ่าย (ไทย - ญี่ปุ่น - เมียนมา) ระหว่างการประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขง - ญี่ปุ่น ที่โตเกียว ในเดือน ก.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีไทยและญี่ปุ่นยังได้มีการหารือเพื่อส่งเสริมการค้าการลงทุน และการเปิดตลาดสินค้าเกษตร โดยขอให้ญี่ปุ่นมีการนำเข้าสินค้าเกษตรของไทยเพิ่มขึ้น เช่น เนื้อสุกรแปรรูป และผลไม้ อาทิ ขอให้ช่วยเร่งรัดกระบวนการเปิดตลาดมะม่วงอีก 2 สายพันธุ์ (เขียวเสวย และโชคอนันต์) นอกจากนี้ ยังสนับสนุนให้มีการเจรจาการค้าสินค้ารอบใหม่ภายใต้ JTEPA โดยเร็ว
นายกรัฐมนตรีได้ขอให้ญี่ปุ่นสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในไทย และขอให้ญี่ปุ่นเดินหน้าพัฒนาบุคลากรไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะช่วยสนับสนุนธุรกิจของญี่ปุ่นให้ขยายต่อไปในอาเซียนอย่างเข้มแข็ง
นายกรัฐมนตริได้หารือกับนายบัน คี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ โดยกล่าวแสดงความยินดีกับสหประชาชาติและรัฐบาลญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จในการจัดการประชุมฯ และไทยยินดีที่จะร่วมมือกับสหประชาชาติ ในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ โดยสิ่งที่ไทยดำเนินการอยู่ก็สอดคล้องกับแนวความคิดของสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวาระในการพัฒนาอย่างยั่งยืน หลังปี 2015 ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญเป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูประเทศในทุกด้านในขณะนี้
นายกรัฐมนตรีได้เล่าถึงสถานการณ์ในประเทศที่มีความสงบเรียบร้อย โดยขณะนี้กำลังมีการร่างรัฐธรรมนูญตามโรดแมปที่กำหนดไว้
เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความหวังว่าจะเห็นพัฒนาการการเมืองในประเทศไทยเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่วางไว้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถคงบทบาทที่เข้มแข็งในการสนับสนุนภารกิจในกรอบสหประชาชาติได้มากยิ่งขึ้น
ในตอนท้าย เลขาธิการสหประชาชาติ ได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติเพื่อรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปี 2015 (United Nations Summit for the adoption of the post 2015 development agenda) และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติในเดือนกันยายน ปีนี้ด้วย
สำหรับกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า รัฐบาลกำลังจัดสร้างหอประชุมขนาดใหญ่ในพื้นที่กองทัพบก เขตเทเวศร์ ซึ่งสามารถจัดงาน จัดการแสดง โดยเป็นอาคารที่ต่อเนื่องกับพิพิธภัณฑ์ไม้มีค่าเพื่อจัดแสดงไม้มีค่าต่างๆของไทย รวมทั้งไม้พะยูง ทั้งนี้ ในส่วนของไม้มีค่าที่จะนำมาจัดแสดงเป็นไม้มีค่าที่ถูกลักลอบตัดและได้มีการดำเนินการทางคดีคดีเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาใช้ประโยชน์เพื่อแผ่นดินและส่วนรวม เพื่อให้พิพิธภัณฑ์เป็นทั้งแหล่งศึกษาหาความรู้ และเป็นสถานที่ที่จะสะท้อนถึงวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ โดยไม้มีค่าเหล่านี้ถือเป็นสมบัติของชาติที่ทุกคนจะได้ภาคภูมิใจและชื่นชมร่วมกัน
ที่มา : รัฐบาลไทย