วันที่ 16 มี.ค. เวลา 09.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดฟังคำสั่งว่าจะรับฟ้อง คดีละเว้นไม่ระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ย่ิงลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ในวันที่ 19 มี.ค. ว่า น.ส.ย่ิงลักษณ์ ไม่จำเป็นต้องไป เพราะเป็นการพิจารณาเพื่อจะสั่งว่าจะรับฟ้องหรือไม่ ถ้ารับจากนั้นศาลก็จะนัดวันที่จะพิจารณาคดีครั้งแรก ซึ่งในวันดังกล่าว น.ส.ย่ิงลักษณ์ ต้องไป ส่วนเรื่องการประกันตัวอยู่ที่ศาลจะพิจารณาอย่างไร และถ้า น.ส.ย่ิงลักษณ์ ต้องการจะไปวันที่ 19 มี.ค. ก็ไม่เป็นไร แต่ศาลไม่มีเรื่องอะไรที่จะพูดกับ น.ส.ย่ิงลักษณ์ ศาลมีเรื่องจะพูดกับอัยการเท่านั้น และจะนัดวันพิจารณาคดีในนัดแรก จะแจ้งว่า น.ส.ย่ิงลักษณ์ ต้องมาวันไหน และรวมถึงจะพิจารณาให้ประกันตัวหรือไม่ แต่ถ้าศาลไม่รับศาลก็แล้วไป ส่วนการขออนุญาตไปต่างประเทศก็ขึ้นอยู่ที่ศาลจะพิจารณา
นายวิษณุ กล่าวถึงการประชุม 5 ฝ่ายที่ผ่านมา ว่า ในแต่ละสายมีการเสนอความเห็นประมาณ 17 ข้อ ไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กำลังรวบรวมคำตอบ ส่วนการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย ก็เสนอความคิดเห็นมาได้ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่ามีหลายประเด็นถกเถียงและไม่เห็นด้วย เพราะมีถึง 300 มาตรา และอยากเห็นตัวร่างรัฐธรรมนูญ ตนก็ยังแปลกใจอย่างหนึ่งว่า สังคมเราทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมา คือ ยังชุลมุนวุ่นวายติดใจกันอยู่ในประเด็น นายกรัฐมนตรีเป็นใคร มาจากไหน ส.ส.เลือกตั้งโดยวิธีอะไร ซึ่งมันเป็นวิธีที่เรียกว่าการเมืองภาคการเมือง ซึ่งก็ไม่เป็นไร ถ้าใครติดใจก็ยกขึ้นมาได้ แต่ความจริงในรัฐธรรมนูญยังมีอีกหลายประเด็นที่ควรจะตั้งคำถาม เช่น สิทธิและเสรีภาพ สมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเรือน ใหม่ๆ ยังมีอีกเยอะ ซึ่งประเด็นเหล่านี้ ดูแล้วไม่ค่อยจะมีใครวิพากษ์วิจารณ์ เหมือนประหนึ่งว่าไม่ได้อ่าน หรืออาจจะเห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยคงต้องพูดจากัน แม้กระทั่งเรื่องสิทธิเสรีภาพที่ให้ไว้เยอะ แต่ในแง่ประชาชนก็ต้องตอบเป็นเรื่องดี แต่ในแง่ของคนที่จะมาเป็นรัฐบาล ก็ควรจะอ่านหน่อย
“แต่สำหรับคนที่จะมาเป็นรัฐบาล หรือคิดจะมาเป็นรัฐบาลก็ช่วยอ่านหน่อย พวกผมไม่ได้เป็นแล้ว อีกหน่อยก็ถอยออกไป เขาจะให้กลับมาใหม่หรือไม่ก็คงไม่รู้ ไม่ได้เกี่ยวอะไร และผมก็ไม่ได้ติดใจ แต่คนที่จะเข้ามารับภาระประเทศต้องอ่าน คิดให้ดีนะว่าเป็นอุปสรรคต่อการทำงานไหม หรือเข้าใจหรือเปล่า ถ้ามีปัญหาก็บอก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในตอนนี้เลย ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาอีกว่า คนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง ตอนนี้รวมกันหมดแล้ว ใครมีอะไรก็บอก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญมีหลายประเด็น บางประเด็นเป็นการแก้ไขข้อบกพร่องในอดีต แต่บางประเด็นเป็นการมองไปข้างหน้าว่า หากเกิดปัญหาก็กันไว้ก่อน เพราะฉะนั้น จึงมีอะไรใหม่ๆ ออกมา ซึ่งมันยังมีอีกหลายเรื่องที่ควรจะอ่านกัน และช่วยตั้งเป็นข้อสังเกตด้วย ถ้าอ่านไม่หมดเดี๋ยวจะมีปัญหาไม่หมด จะมีปัญหาอีกว่าไม่เห็นรู้ ไม่เห็นบอก เพราะฉะนั้น ควรอ่านให้หมด ตนเป็นห่วงที่บอกว่าจะไปทำประชามติ คนจะเข้าใจแบบนี้ทั้งหมดไหม ขนาดตนอ่านเองยังมีเครื่องหมายคำถามเลยว่า เวลาเอาไปใช้จริง มันแปลว่าอะไร เช่น ที่บอกว่ารัฐจะทำเรื่องนั้น เรื่องนี้ไม่ได้ ออกกฎหมายเรื่องนั้น เรื่องนี้ไม่ได้ เพราะจะต้องคำนึงถึงหลักความได้สัดส่วน ซึ่งตรงนี้ตนก็เป็นห่วงว่า รัฐบาลหน้าเขาจะเข้าใจหรือไม่ ว่า คำสัดส่วนต้องคำนึงถึงอะไร แล้วจะมาร้องกันทีหลังว่า ก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร เพราะฉะนั้น ตอนนี้มีอะไรก็ถามให้ชัดเจน เพราะจะได้ตอบ
เมื่อถามว่า มีการวิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำลายระบบพรรคเมือง นายวิษณุ ตอบว่า ความจริงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย จุดแข็งและจุดอ่อน ถ้าหยิบจุดอ่อนมาพูดมันก็มองได้ แต่ก็มีจุดแข็ง เพราะฉะนั้น ต้องชั่งน้ำหนักเอาว่าจะเลือกเอาอะไร เพราะถ้าจะเลือกเอาส่ิงที่ดีที่สุด โดยไม่มีจุดอ่อนเลยคงไม่ได้ ซึ่งตนก็ไม่มีปัญหาอะไรถ้าจะวิพากษ์วิจารณ์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะได้ไปพิจารณาอีกที
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนมากขึ้นหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งที่ประชุมแม่น้ำ 5 สาย ก็มีการพูดกัน มีการเสนอแนะว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ควรสร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะต้องระบุว่าการเสนอแบบนี้ไป เพราะต้องการแก้ปัญหาอะไร นอกจากนี้ ต้องชี้แจงว่า การเสนอแบบนี้มันจะเกิดผลกระทบข้างเคียงอะไรหรือไม่ ก็ต้องทำความเข้าใจ และจะต้องพูดถึงถ้อยคำ และความหมายของถ้อยคำ เพราะบางคำเป็นคำใหม่ที่ไม่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญก่อนๆ ก็ต้องถามกันว่ามันแปลว่าอะไร พูดกันให้รู้เรื่องก่อน จะได้ไม่มีปัญหาเวลาเกิดคดีขึ้นภายหลัง
ดังนั้น การทำความเข้าใจถือเป็นส่ิงสำคัญ วันนี้อาจจะยังไม่ถึงเวลาทำความเข้าใจ ก็ต้องเตรียมไว้ก่อน เพราะเมื่อร่างเสร็จ ซึ่งใกล้แล้วก็ต้องเร่งทำความเข้าใจกับประชาชน ย่ิงถ้าคิดเผื่อว่าจะต้องทำประชามติ ซึ่งไม่ว่าจะมีหรือไม่ ถ้าไปถึงขั้นนั้น การทำความเข้าใจย่ิงสำคัญ เพราะไม่เช่นนั้นคนก็จะไปโหวตกันโดยไม่เข้าใจอะไรเลย
เมื่อถามว่า นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศ ระบุว่า ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยจะเว้นวรรคการเมือง นายวิษณุ ตอบว่า ก็ยังไม่ได้คิดอะไร เพราะเชื่อว่ายังมีเวลาทำความเข้าใจกัน ในอดีต นายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา ก็เคยมีแนวคิดนี้ แต่หลังจากนั้นท่านก็ลง เมื่อถามว่า ถ้ามีความคิดเห็นไม่ตรงกันแบบนี้ น่าจะมีแนวโน้มที่จะทำประชามติใช่หรือไม่ เพื่อให้เกิดความกระจ่าง นายวิษณุ กล่าวว่า ก็รับทราบไว้ตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้จวนที่จะรู้แล้วว่า จะต้องทำประชามติหรือไม่.
ที่มา : ไทยรัฐอนนไลน์