Industry 4.0: ทางรอดของจีน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

 

ข่าวแชร์สนั่นโซเชียลมีเดียของจีน! เมื่อช่ายหงผิง “พ่อมดการเงิน” ผู้บริหารทีมงานภูมิภาคเอเชียของ Deutche Bank 

 

ซึ่งอยู่เบื้องหลัง IPO ประวัติศาสตร์ของ Alibaba Group (E-Commerce ยักษ์ใหญ่ของจีน) กลับกล่าวสุนทรพจน์ในงานเลี้ยงแห่งหนึ่งเมื่อไม่กี่วันมานี้ว่า Alibaba ไม่ใช่อนาคตของจีน!! 

 

เล่นเอาช็อกกันไปทั้งงาน เพราะ Alibaba เป็นความภาคภูมิใจอันยิ่งใหญ่ของวงการธุรกิจจีนเลยทีเดียว ตัว Jack Ma เจ้าของ Alibaba ก็กลายเป็นฮีโร่ขวัญใจนักธุรกิจรุ่นใหม่จำนวนนับไม่ถ้วน แต่ช่ายหงผิงกลับเห็นว่าธุรกิจ E-Commerce ในจีนนั้น เริ่มอิ่มตัวแล้ว และจีนก็คงจะไม่มี Jack Ma คนที่สองจากธุรกิจนี้ได้อีก ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ธุรกิจ E-Commerce ไม่ใช่ธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน (ซึ่งนักวิเคราะห์ทั่วโลกกำลังมองว่าติดหล่มและชะลอตัว) ไปสู่อนาคตที่สดใสได้ 

 

สำหรับช่ายหงผิง E-Commerce ของจีนได้พัฒนามายาวนานกว่า 15 ปี แล้วและถึงจุดอิ่มตัวในอดีตที่ผ่านมา ธุรกิจ E-Commerce ของจีนได้ประโยชน์จากความอ่อนแอของระบบอื่นๆ เช่น ปัญหาการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้มีของปลอมราคาถูกขายเกลื่อนตลาดออนไลน์สร้างกำไรมหาศาล, ปัญหาระบบกระจายสินค้าของจีนที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาลจากการใช้โลกออนไลน์เป็นตัวเชื่อมต่อในการกระจายสินค้า, ปัญหาที่ผู้บริโภครายย่อยไปจนถึง SME จีนเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ธุรกิจ E-Commerce ปล่อยสินเชื่อโดยตรงให้แก่ผู้บริโภคและ SME จนทำกำไรมหาศาล ดังนั้น แท้จริงแล้ว ธุรกิจ E-Commerce ของจีนประสบความสำเร็จเพราะอาศัยการทำกำไรจากระบบที่อ่อนแอเหล่านี้ ซึ่งไม่ยั่งยืนเลย 

 

แม้จะมีนักวิเคราะห์หลายคนมองว่า E-Commerce เป็นสีสันใหม่ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีนในช่วงนี้ แต่ช่ายหงผิงกลับมองว่าการที่คนจีนรุ่นใหม่คิดแต่จะแข่งกันขายของถูกในโลกออนไลน์ น่าจะเป็นทางตัน มากกว่าทางรอดของเศรษฐกิจจีน ช่ายหงผิงมองว่า หัวใจของเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ที่ภาคการผลิตเป็นสำคัญ มีแต่ภาคการผลิตเท่านั้นที่ถือเป็นหัวรถจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริงได้ในความเห็นของเขา ทางรอดของเศรษฐกิจจีนอยู่ที่การยกระดับภาคการผลิตให้เข้าสู่ Industry 4.0 ให้ได้! 

 

 

สุนทรพจน์สั้นๆ ที่แชร์กันสนั่นเมืองนี่เล่นเอาผมต้องกลับมาทำการบ้านว่าอะไรคือ “Industry 4.0” เพราะยังไม่เคยได้ยินคำนี้จากท่านนายกฯ (ช่วงนี้เห็นท่านเน้นเรื่องอุโมงค์), สภาปฏิรูป (ผมลืมตามข่าวว่าปฏิรูปถึงไหนแล้ว), สภาอุตสาหกรรม (เข้าใจว่าปราบคอร์รัปชันยังไม่เสร็จ) หรือกรรมการเศรษฐกิจชุดใดของไทย (ซึ่งส่วนใหญ่ยังยุ่งกับการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจอยู่) ผมค้นไม่นานจึงทราบว่าเรื่องนี้กำลังมาแรงเป็นเทรนด์ใหม่ในโลกธุรกิจจีน ยุโรป และสหรัฐอเมริกา คำเรียก “Industry 4.0” มาจากชื่อนโยบายอุตสาหกรรมแห่งชาติของเยอรมันที่ประกาศเมื่อปี ค.ศ. 2013 แนวคิดก็คือ โลกของเราจะเข้าสู่ช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ภายใน 20 ปีข้างหน้า และเยอรมันจะต้องอยู่ในหัวขบวนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ 

 

การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในศตวรรษที่ 18 เป็นผลพวงจากเครื่องจักรไอน้ำ ที่สร้างรถไฟลดระยะทางคมนาคม และนำไปสู่การสร้างเครื่องจักรก่อกำเนิดเป็นโรงงานสมัยใหม่, จากนั้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นการเปลี่ยนจากการใช้เครื่องจักรไอน้ำ มาใช้พลังงานไฟฟ้าส่งผลให้สามารถปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน, ต่อมาการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ในช่วงทศวรรษ 1970 เป็นการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในการผลิต แทนที่แรงงานคน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง, สำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ Industry 4.0 ที่กำลังจะมาถึง (ภายในไม่เกิน 20 ปี) คือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต มาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า จุดเด่นที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือสามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง พูดง่ายๆ ก็คือ โรงงานยุค 3.0 สามารถผลิตของแบบเดียวกันจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว แต่โรงงานยุค 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกัน (ตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย) เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว โดยใช้กระบวนการผลิตที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจรแบบ “Smart Factory” 

 

แนวคิด Industry 4.0 นี้ มักเรียกในสหรัฐอเมริกาว่า “The Internet of Things” คือการทำให้กระบวนการผลิตสินค้าเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล หรือแม้กระทั่งทำให้ตัวสินค้าเองเชื่อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ยกตัวอย่างเช่น การมีระบบป้อนข้อมูลให้เครื่องจักรสามารถผลิตสิ่งของตามแต่การสั่ง (ออนไลน์) จากผู้บริโภคโดยตรง, การใส่ตัวส่งข้อมูลในเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อประมวลสถิติการใช้และแจ้ง (โดยอัตโนมัติ) กลับไปยังโรงงานเมื่อเกิดปัญหาทางเทคนิค, การใช้คอมพิวเตอร์จิ๋วกินได้ (ขนาดเท่ายาเม็ด) ให้ผู้บริโภคกลืนเข้าไปเพื่อเก็บข้อมูลสุขภาพในร่างกาย ฯลฯ จะเห็นได้ว่า Industry 4.0 ยังเป็นแนวคิดที่ใหม่มาก หลายอย่างอยู่ในช่วงทดลองและพัฒนา แต่ก็เป็นแนวคิดที่มีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงทุกวงการ ตั้งแต่แนวทางการบริโภคสินค้าของผู้คนทั่วไป ตลอดจนแนวทางการรักษาทางการแพทย์ 

 

เวลาเราพูดเรื่องระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เรามักเริ่มจากภาคการเกษตร จากนั้นจึงพัฒนาภาคอุตสาหกรรม และต่อไปยังภาคบริการและภาคการเงิน แต่หลังจากที่เกิดวิกฤติการเงินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปในปี ค.ศ. 2007 ก็ทำให้มีนักวิเคราะห์หลายคนเริ่มมองว่า ภาคบริการและภาคการเงินนั้นเป็น “มายา” มากกว่าจะเป็น “ของจริง” ภาคอุตสาหกรรมต่างหากที่นับเป็นหัวใจที่แท้จริงของระบบเศรษฐกิจ ทำให้เราเห็นการหวนกลับมาเน้นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้าทั้งในสหรัฐฯ และในยุโรป 

 

ในประเทศจีน ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ยังเป็น Industry 2.0 คือใช้เครื่องจักรผสมกับแรงงานคนจำนวนมหาศาล แต่ระเบิดเวลาก็คือ ค่าแรงของจีนเริ่มแพงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไปโรงงานที่อาศัยแรงงานราคาถูกทั้งหมดก็จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเกิดใหม่ที่มีค่าแรงถูกกว่าจีนทางรอดของจีน นอกจากการส่งเสริมภาคบริการและภาคการเงินแล้ว ยังต้องพยายามยกระดับภาคอุตสาหกรรมให้สำเร็จรัฐบาลจีนเองได้ประกาศยุทธศาสตร์ “Made in China 2025” โดยมีแนวคิดว่าในปี ค.ศ. 2025 สินค้า Made in China จะเป็นสินค้าไฮเทคชั้นแนวหน้าของโลก ไม่ใช่สินค้าคุณภาพต่ำราคาถูกที่เคยติดตาผู้คนทั่วโลกในอดีต รัฐบาลจีนยังประกาศสร้างนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ 30 แห่ง ที่จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติแทนแรงงานทั้งหมด เรียกว่าเพื่อยกระดับเข้าสู่ Industry 3.0 เสียทีนอกจากนั้น เมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว นายกฯ หลี่เค่อเฉียงได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือส่งเสริมและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อสร้างIndustry 4.0 กับรัฐบาลเยอรมัน ว่ากันว่าในช่วงปีที่ผ่านมา นักธุรกิจชั้นนำของจีนล้วนเคยเดินทางไปดูงานการวิจัยและบุกเบิก Industry 4.0 ทั้งในยุโรปและในสหรัฐอเมริกา 

 

ส่วนประเทศไทยของผมนั้น ตอนนี้มีนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ดูจากในเว็บไซต์ของรัฐบาลบอกว่าคำนี้มาจากหนังสือ “The Digital Economy” ของฝรั่งในปี ค.ศ. 1995 (หนังสือพูดเรื่อง E-Commerce เป็นหลัก) โดยที่นโยบายของรัฐบาลไทยในปี ค.ศ. 2015 อ่านจับใจความสำคัญได้ว่า เน้นส่งเสริมการขยายเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศส่งเสริม E-Commerce, E-Documentsและ E-Learning เพื่อให้ไทยก้าวเป็นผู้นำเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ