รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่า ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนมี.ค.58 ได้ออกบทความหัวข้อ “เงินบาทแข็งค่า สาเหตุ ผลกระทบ และการปรับตัว” สรุปได้ว่า เงินบาทแข็งค่าได้ส่งผลกระทบต่อภาคส่งออก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นับตั้งแต่ปลายปี 57 และต่อไปคาดว่าจะมีเงินทุนไหลเข้าผ่านการลงทุนในหลักทรัพย์ของไทยมากขึ้นจากมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางอื่นๆ แม้ผลกระทบมาตรการ QE ของ ECB ของไม่มากเท่ากับของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED)
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบส่งออกไทยไม่มากเหมือนในอดีต เพราะปัจจัยสำคัญกำหนดปริมาณความต้องการสินค้าส่งออกในตลาดโลก คือ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวต่อเนื่องมาระยะหนึ่ง และเศรษฐกิจของประเทศในเอเชียโลกเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การส่งออกของเอเชียไม่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) รวมถึงพฤติรรมการบริโภคสินค้าเปลี่ยนแปลงไปด้วย
“แม้ค่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักกำหนดปริมาณการส่งออก แต่การแข็งค่าบาทอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจส่งออกไทยบางกลุ่ม โดยเฉพาะผู้ส่งออกธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ที่มีฐานะทางการเงินเปราะบาง และมีสภาพคล่องจำกัดภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และภาคธุรกิจส่งออกสินค้าที่มีการแข่งขันด้วยราคาที่เข้มข้น และสินค้าที่มีสัดส่วนกำไรต่ำ”
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกแปลงรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศเป็นมูลค่าเงินบาทได้น้อยลง ซึ่งส่งผลลบต่อสภาพคล่อง และฐานะการเงิน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างรายได้ และต้นทุนเป็นสกุลเงินที่แตกต่างกัน กล่าวคือ อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง และใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพียงบางส่วน เช่น อุตสาหกรรมเกษตร เครื่องนุ่งห่ม และเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการกลุ่มนี้เป็นรายเล็กที่มีอำนาจต่อรองจำกัด จึงไม่สามารถขอปรับราคาเพื่อลดทอนผลกระทบค่าเงินบาทได้
นอกจากนี้ ผู้ส่งออกกลุ่มที่มีความสามารถแข่งขันด้านราคาของไทยด้อยลง ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้น เช่น อุตสาหกรรมเกษตร เครื่องนุ่งห่ม เพราะสินค้าส่งออกเหล่านี้จากแต่ละประเทศมีความคล้ายคลึงกัน ราคาจึงมีผลค่อนข้างมากต่อปริมาณการส่งออกสินค้าดังกล่าว ดังนั้น หากประเทศคู่แข่งปรับลดราคาลง เนื่องจากเงินอ่อนค่า ผู้ส่งออกไทยอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาด
ขณะที่อุตสาหกรรมอื่นๆ ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัด เพราะบางอุตสาหกรรมอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของบริษัทต่างชาติ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการตกลงซื้อขายอยู่ในรูปสัญญาที่กำหนดมาตรฐานสินค้าตั้งแต่ต้น และค่อยๆ ทยอยผลิต จึงยากที่เปลี่ยนการผลิตไปยังผู้ผลิตรายอื่นๆ และรอบการค้าแต่ละครั้งผู้ผลิตสามารถเจรจาต่อรองแบ่งรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนได้
สำหรับแนวทางการปรับตัวมองว่า ผู้ส่งออกไทยควรบริหารรายรับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ใช้เครื่องมือการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และการพัฒนาศักยภาพการผลิตให้สินค้ามีคุณภาพ มีความแตกต่าง และมีมูลค่าเพิ่มสูง
ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์