นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การที่รัฐบาลจะยกเลิกกฎอัยการศึกและใช้มาตรา 44 แทนนั้น น่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของนักลงทุนต่างชาติ แต่ยอมรับว่าฝ่ายบริหารต้องมีเครื่องมืออื่นในการดูแลรักษาความสงบ ซึ่งการที่รัฐบาลจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแทนนั้น ก็ควรต้องชี้แจงอธิบายว่าการใช้กฎหมายดังกล่าวอยู่ภายใต้เงื่อนไขและควรใช้ชั่วคราวเท่านั้น
ส่วนกรณีที่กรมการบินพลเรือนของไทยไม่ผ่านมาตรฐานขององค์การการบินระหว่างประเทศ หรือไอซีเอโอ ทำให้เกิดการยกเลิกเที่ยวบินจากไทยไปญี่ปุ่นและประเทศอื่น ๆ กำลังพิจารณายกเลิกตามมานั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวบ้าง โดยเฉพาะขาออก ส่วนขาเข้าไม่น่าจะมีปัญหา ยังมีสายการบินอื่นที่นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยได้ ซึ่งถือเป็นบทเรียนที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐานของไอซีเอโอ เพื่อสร้างความปลอดภัยในการเดินทาง ส่วนปัจจัยดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจไทยหรือไม่นั้น ยังไม่ได้มีการประเมินในขณะนี้ แต่ยืนยันว่าเศรษฐกิจขณะนี้ค่อย ๆ ฟื้นตัว ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนไตรมาส 1 ปีนี้ โดยประเมินจีดีพีทั้งปีไว้ที่ร้อยละ 3.8
สำหรับปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 4/2557 อยู่ที่ ร้อยละ 85.9 จากไตรมาส 3/2557 อยู่ที่ ร้อยละ 84.7 ของจีดีพี ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า ไม่ควรต้องกังวลมาก เพราะอัตราการเร่งตัวชะลอตัวลงแล้วเมื่อเทียบกับ 2 ปีก่อน หนี้ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุเนื่องจากจีดีพีโตน้อย รายได้ประชาชนน้อยลง
นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธปท. ระบุว่า เศรษฐกิจไทยเดือนกุมภาพันธ์ยังฟื้นตัวช้า โดยการใช้จ่ายภาคเอกชนและครัวเรือนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย ขณะที่การส่งออกได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนและอาเซียนที่ชะลอตัวลดร้อยละ 6 ต้องติดตามสถานการณ์ส่งออกต่อไป โดย ธปท. ยังคงการขยายตัวส่งออกปีนี้ที่ร้อยละ 0.8
ส่วนอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำติดลบอยู่ที่ ร้อยละ 0.52 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องกัน 2 เดือนนั้น ยืนยันว่าเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืด เนื่องจากไม่ได้มาจากราคาสินค้าปรับตัวลดลง แต่มาจากราคาพลังงานที่ลดลง ขณะเดียวกันประชาชนไม่ได้ชะลอการบริโภค เพราะหวังว่าราคาสินค้าในอนาคตจะปรับลดลง.
ที่มา : สำนักข่าวไทย