ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ฟื้นตัวไม่เข้มแข็ง

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการ สำนักเศรษฐกิจมหภาค ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กล่าวว่า ธปท. อยู่ระหว่างการพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจทั้งปี 2558 ซึ่งจะมีการปรับประมาณการอีกครั้งในเดือนมิถุนายน โดยในประมาณการล่าสุดเดือนมีนาคม ธปท. คาดว่าจีดีพี ทั้งปี 2558 จะขยายตัวร้อยละ  3.8

 

          ส่วนกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. คาดการณ์ว่า จีดีพีไตรมาสแรกของปีนี้จะขยายตัวร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนนั้น (YoY ) ธปท.คงต้องรอรายละเอียดของตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคมก่อน ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.ในวันที่ 29 เมษายนนี้ โดยยอมรับว่าหากตัวเลขจีดีพีไตรมาส 1  ออกมาต่ำกว่าร้อยละ 4 จะทำให้ตัวเลข จีดีพี ไตรมาส 1 เมื่อเทียบแบบรายไตรมาส ( QoQ )ติดลบ สะท้อนว่าการฟื้นตัวยังไม่เข้มแข็ง แต่เชื่อว่าจีดีพีในไตรมาส 2 ปีนี้ มีแนวโน้มจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก เนื่องจากรัฐบาลมีการเร่งรัดการลงทุนมากขึ้น และภาคการส่งออกน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น

 

           แต่ก็ยอมรับว่ามีความเสี่ยงที่การส่งออกของไทยในปีนี้จะเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 0.8 หรือ อาจจะหดตัวได้ เนื่องจากมีความกังวลเพิ่มเติมหลังจากที่ สหภาพยุโรป หรือ อียู ขีดเส้นตายให้รัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาเรื่องของการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงภายใน 6 เดือนโดยหากไทยไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะตัดการนำเข้าสินค้าประมงจากไทย โดยมองว่าเป็นปัญหาที่น่ากังวลแต่เชื่อว่ารัฐบาลไทยกำลังดูแลอยู่และคงจะสามารถจัดการได้ ซึ่งหากอียูตัดสินค้าประมงของไทยจริงก็จะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกมากขึ้น เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าประมงไปยังอียูประมาณ 320 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงทั่วโลกของไทย 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอียูเป็นตลาดใหญ่อันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐ นอกจากนี้ยังมีผลกระทบกับสินค้าประมงแปรรูป ซึ่งส่งออกไปยังอียู 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงแปรรูปทั้งหมด 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

           ส่วนเรื่องของเงินทุนเคลื่อนย้ายในช่วงเดือนเมษายน พบว่า กระแสเงินทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตร 492 ล้านลอลลาร์สหรัฐ และไหลเข้าตลาดหุ้น 204 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างวันที่ 1-20 เมษายนที่ผ่านมา ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าน้อยกว่าเงินสกุลภูมิภาคหลังจากที่คณะกรรมการกนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาร้อยละ 1 ใกล้เคียงกับเงินหยวนของจีนส่วนเงินอินโดนีเซียแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.2 มาเลเซียแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.6 และสิงคโปร์แข็งค่าขึ้นร้อยละ 2.8

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย