บีโอไอแนะตั้งฐานการผลิตตลาดใหม่ 4 ประเทศ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายโชคดี แก้วแสง รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)    กล่าวถึงโอกาสการลงทุนไทยในสาธารณรัฐเคนยา สาธารณรัฐแอฟริกาใต้ สหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตยเอธิโอเปีย และสาธารณรัฐอุซเบกิสถานว่า ในปี 2558 บีโอไอ ได้คัดเลือกให้ทั้ง 4 ประเทศ เป็นประเทศกลุ่มตลาดใหม่ที่น่าสนใจ และเป็นเป้าหมายที่จะผลักดันให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในอนาคต นอกเหนือจากการส่งเสริมเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม

 

          โดยศูนย์ข้อมูลการลงทุนไทยในต่างประเทศ (TOI) ได้ทำแผนชักจูงลงทุนใน 4 ประเทศดังกล่าว เพื่อสรุปเป็นแนวทางให้นักลงทุนไทยได้ทราบข้อมูลทั้งข้อมูลพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง กฎระเบียบ ขั้นตอน โอกาสและลู่ทางการค้าการลงทุน ตลอดจนอุปสรรคและข้อควรระวังในการเข้าไปลงทุนทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งมั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์แก่นักลงทุนที่สนใจมองหาโอกาสในการเข้าไปลงทุนอย่างแท้จริง

 

          ทั้งนี้การให้ข้อมูลกับนักลงทุนไทย จะช่วยให้การพิจารณาประกอบการตัดสินใจในการเข้าไปลงทุน หรือดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนระหว่างเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก และแอฟริกาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อไป

 

          สำหรับประเทศเคนยา  นับเป็นประเทศศูนย์กลางของกลุ่มประเทศสมาชิกตลาดร่วมแห่งภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก โดยมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุด , แอฟริกาใต้ เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในทวีปแอฟริกาและเป็นตลาดส่งออกข้าวที่ใหญ่ที่สุดในอนุภูมิภาคแอฟริกาตอนใต้   ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพต่อการลงทุนร่วมกันได้แก่  ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  โรงแรม การก่อสร้าง ธนาคาร และแปรรูปอาหาร  ,

 

          เอธิโอเปีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง  97 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปี ทำให้เอธิโอเปียเป็นประเทศที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนมากโดยมีจีนเป็นนักลงทุนเป็นอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะในธุรกิจก่อสร้างสาธารณูปโภค นอกจากนี้เอธิโอเปียยังเป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัญ โดยเฉพาะกุหลาบ และกาแฟ และอุซเบกิสถาน เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ในกลุ่มประเทศรัฐอิสระที่แยกออกมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย    มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 8 ต่อปี ปัจจุบันอุซเบกิสถานยังคงเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมต่อและคมนาคมในภูมิภาค อุซเบกิสถานเปิดตัวรถไฟความเร็วสูงไปเมื่อปี 2013 นอกจากนี้ อุซเบกิสถานยังเป็นแหล่งเกษตรกรรมและมีทรัพยากรธรรมชาติจำพวกแร่จำนวนมาก โดยสามารถผลิตยูเรเนียมได้มากเป็นอันดับ 4 ของโลก 

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย