นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 5 ต่อ 2 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 1.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยอีก 2 เสียงให้คงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม
ขณะที่คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ แม้ว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐจะทำได้มากขึ้นและการท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยการส่งออกสินค้าและการบริโภคภาคเอกชนที่อ่อนแอต่ำกว่าคาด นอกจากนี้ในระยะข้างหน้าการส่งออกยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โครงสร้างการค้าโลกและภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงโดยประเทศคู่ค้าหลักมีการพึ่งพาการนำเข้าลดลงรวม ทั้งแรงกดดันจากอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ตลอดจนการหดตัวของการส่งออกอาจส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคครัวเรือนอ่อนแอลงตามกำลังซื้อและความเชื่อมั่น ดังนั้นนโยบายการเงินควรผ่อนคลายเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ในวันที่ 19 มิถุนายน 2558 ธปท.จะปรับลดประมาณการจีดีพี การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อใหม่อีกครั้ง เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจหลายตัวมีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะการส่งออกที่มีโอกาสติดลบ
ส่วนข้อวิตกกังวลว่าจะเกิดภาวะเงินฝืดนั้น นายเมธี ยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยเริ่มมีความเสี่ยงมากขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าหลายกลุ่มปรับลดลงนอกเหนือจากราคาน้ำมัน ซึ่งยังต้องติดตามต่อและคาดหวังว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ได้ ส่วนค่าเงินบาทที่แข็งค่านั้นยอมรับว่ามีผลต่อการส่งออกบ้างแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้อาจจะมีผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ภาคเอกชนต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิต และในวันพรุ่งนี้ (30 เม.ย. ) ธปท.จะมีการประกาศมาตรการผ่อนคลายการไหลออกของเงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.5 เป็นอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2553 ที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 1.25
ที่มา : สำนักข่าวไทย