“จีพีเอสซี” ลุ้นผู้นำเอเชีย! หัวหอกธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท.เข้าตลาดหุ้น

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายนพดล ปิ่นสุภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ไอน้ำและสาธารณูปโภค และถือเป็นหัวหอกธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัทได้ระดมทุนโดยขายหุ้นเพิ่มทุนให้ประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) 374.58 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 27 บาท คาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันที่ 18 พ.ค.นี้ โดยเงินที่ได้จากการระดมทุน 10,113 ล้านบาท จะนำไปขยายธุรกิจที่มีแผนลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ใน 5 ปีข้างหน้า 18,000 ล้านบาท โดยมีวงเงินกู้ 8,000 ล้านบาท รองรับไว้แล้ว

 

          “บริษัทมีเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำด้านธุรกิจไฟฟ้าของเอเชีย โดยในระยะสั้น ซึ่งจะเน้นเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้า ติดตั้งรวมตามสัดส่วนการถือหุ้น เพิ่มจากปัจจุบันอีก 600-1,000 เมกะวัตต์ ในปี 2562 เพื่อทำให้บริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 2,851 เมกะวัตต์ กำลังการผลิตดังกล่าวมาจากการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าและลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น ฯลฯ ซึ่งการลงทุนต่างๆจะพิจารณาลงทุน ในโครงการที่มีผลตอบแทนการลงทุน (IRR) 12-15%”

 

          ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าที่มีรายได้เชิงพาณิชย์แล้ว 1,315 เมกะวัตต์ และมีการถือหุ้นในโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างที่จะทยอยรับรู้รายได้ตั้งแต่ปีนี้อีก 536 เมกะวัตต์ รวมเป็น 1,851 เมกะวัตต์ และยังมีกำลังการผลิตไอน้ำรวม 1,345 ตันต่อชั่วโมง ทำให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากไอน้ำ เป็น 1,512 ตันต่อชั่วโมง ฯลฯ โดยกลุ่มลูกค้าหลักๆ ได้แก่ 3 การไฟฟ้า ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่มีรายได้แน่นอน เพราะมีสัญญาขายไฟระยะยาว และกำหนดราคาซื้อที่แน่นอน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 45% และอีก 45% เป็นโรงงานของบริษัทในเครือ ปตท. และอีก 10% เป็นลูกค้าที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม

 

          “สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ธุรกิจอื่นๆอาจมีความแปรผันและความเสี่ยง แต่ธุรกิจของบริษัทมีความมั่นคงมีสัญญาซื้อขายไฟระยะยาวกับลูกค้ารายได้ เพราะไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ และยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก โดย 5 ปีข้างหน้า ตั้งเป้ารายได้เติบโต 17% ต่อปี”

 

          นายนพดลกล่าวว่า บริษัทได้กำหนดกลยุทธ์การเติบโตไว้ 4 แนวทางหลักคือ 

          1.การเติบโตไปพร้อมกับการขยายธุรกิจของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ยังมีแผนขยายการลงทุนต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมีเสถียรภาพด้านไฟฟ้าและสาธารณูปโภค ต่อการผลิตของบริษัทต่างๆในกลุ่ม ปตท. โดยขณะนี้ โรงไฟฟ้าบางแห่ง ได้เริ่มก่อสร้างและผ่านการตรวจสอบรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว

 

          2.การเติบโตอย่างรวดเร็ว ผ่านการเข้าซื้อกิจการ หรือพัฒนาโครงการระยะสั้น (QUICK WIN) เพื่อให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าได้ตามเป้าหมาย ทั้งโรงไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ฯลฯ ซึ่งใช้เวลาก่อสร้างระยะสั้นๆ และมีแผนเข้าซื้อกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนในโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ

 

          3.การเติบโตโดยการลงทุนในโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องใช้เวลาและเงินลงทุนจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้เซ็นข้อตกลงในการศึกษาความเป็นไปได้ ในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,800-2,000 เมกะวัตต์ ที่พม่า โดยเป็นโครงการร่วมทุนถือหุ้น 45% คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปีนี้ รวมทั้งโรงไฟฟ้าที่มีก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง กำลังผลิต 500 เมกะวัตต์ ในพม่า รวมทั้งจับมือพันธมิตรลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว

 

          4.การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ให้บริการประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม อาคารขนาดใหญ่ เพื่อประหยัดและลดการใช้พลังงาน และร่วมกับกลุ่มอิสวอร์เตอร์ ศึกษาเอาน้ำเสียจากแหล่งชุมชนในพัทยานำกลับมาใช้เป็นน้ำดิบในภาคอุตสาหกรรม

 

          สำหรับการลงทุน ใน 5 ปีข้างหน้า บริษัทได้มีการบริหารจัดการด้านการเงินไว้หมดแล้ว โดยไม่ต้องดึงเอากำไรจากผลประกอบการมาใช้ ผู้ลงทุน จึงจะได้รับเงินปันผลจากการดำเนินงานที่จะมีการเติบโตของรายได้และกำไรอย่างต่อเนื่อง จากแผนการลงทุนที่มีอยู่ จุดเด่นจึงทำให้หุ้นของบริษัทเป็นหุ้นที่มีการจ่ายปันผลที่ดีและยังเป็นหุ้น Growth stock คือเป็นบริษัทที่มีการเติบโตดีด้วย นอกจากการมีเงินทุนที่แข็งแกร่ง เพราะเป็นบริษัทที่กลุ่ม ปตท.ถือหุ้นใหญ่รวมกัน 75% หลังเข้าตลาดฯก็จะทำให้มีต้นทุนทางการเงินต่ำ และการเป็นหัวหอกในธุรกิจโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ทำให้มีผู้มาเสนอโอกาส ให้เข้าร่วมลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก และเมื่อบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ มีแผนจะผลักดันให้บริษัทเข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (DJSI)

 

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์