ปฏิวัติข้าวไทย ยกระดับราคา

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          ปี 2558 ถือเป็นปีที่สำคัญยิ่งของ ประเทศไทย ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญของ “การค้าข้าวโลก” ที่จะใช้ประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในการส่งเสริม...พัฒนาภาคการผลิต การส่งออกของอุตสาหกรรมข้าวไทย

 

          จุดแข็งที่เรามีไม่ว่าความสามารถในการค้าข้าว การเสริมสร้างศักยภาพพื้นฐานของสินค้า ได้แก่ การพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพที่หลากหลาย มีโรงสี ผู้ส่งออกข้าวที่มีศักยภาพ ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของอาเซียน จะมีศักยภาพที่ดึงดูดทั้งผู้ซื้อ ผู้ขาย คนกลางจากทั่วโลก ใช้ข้อเด่นด้านเทคโนโลยีการผลิต การค้า การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การส่งออก การขนส่งโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพเข้ามาช่วย พร้อมผนึกความร่วมมือด้านตลาดข้าวประเทศในอาเซียนให้มีผลเป็นรูปธรรม

 

           เป้าหมายหลักสำคัญ เพื่อยกระดับราคาข้าวโลก...ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น เพื่อเพิ่มรายได้ ตลอดจนความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น ส่วนเป้าหมายรองคือสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารของอาเซียนและของโลก ปัจจุบันตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ ได้แก่ ทวีปแอฟริกา นำเข้าข้าวไทย 6.37 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 58.07 มีประเทศนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ไนจีเรีย เบนิน ไอวอรีโคสต์ แอฟริกาใต้

 

           ทวีปเอเชีย นำเข้าข้าวไทย 2.80 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 25.52 มีประเทศนำเข้าที่สำคัญคือ จีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ...ทวีปอเมริกา นำเข้าข้าวไทย 0.70 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 6.38 ประเทศนำเข้าสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล เม็กซิโก

 

          ภูมิภาคตะวันออกกลาง นำเข้าข้าวไทย 0.56 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 5.10 มีประเทศนำเข้าสำคัญ คือ ซาอุดีอาระเบีย อิสราเอล สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์...ทวีปยุโรป นำเข้าข้าวไทย 0.39 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 3.56 ประเทศนำเข้าสำคัญคือ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร เบลเยียม

 

          ภูมิภาคโอเชียเนีย นำเข้าข้าวไทย 0.15 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 1.37 ประเทศนำเข้าสำคัญคือ ออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี นิวซีแลนด์ โดย “ข้าวขาว”...เป็นข้าวที่มีการส่งออกมากที่สุดของไทย รองลงมาเป็นข้าวนึ่ง...ข้าวหอมมะลิ...ข้าวเหนียว...ข้าวหอมปทุมธานี และข้าวกล้อง ตามลำดับ

 

          ช่วงที่ผ่านมาการส่งออกข้าวไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรงทั้งในด้านราคาและคุณภาพข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวสำคัญในตลาดโลก โดยการผลิตข้าวของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่เน้นการผลิตข้าวในเชิงพาณิชย์จึงทำให้ขาดการใส่ใจด้านคุณภาพและสุขภาพ ซึ่งสวนทางกับกระแสความต้องการตลาดข้าวในต่างประเทศที่มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับ “ข้าว”...“การบริโภคข้าว” เพื่อสุขภาพมากขึ้น

 

          น่าสนใจด้วยว่า การส่งออกข้าวไทยมี “มูลค่าต่อหน่วยต่ำ” ...เนื่องจากส่งออกในลักษณะที่เน้น “ปริมาณ” มากกว่า เพื่อพัฒนาให้การผลิต...ส่งออกข้าวไทยเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ข้าวไทยที่มุ่งเน้นการส่งออกข้าวในเชิงคุณภาพมาตรฐาน ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าสินค้า พัฒนาต่อยอดนวัตกรรมข้าว เพื่อทดแทนการส่งออกข้าวในเชิงปริมาณ

 

          สร้างเอกลักษณ์ให้ข้าวไทยมีความแตกต่าง โดดเด่นจากข้าวประเทศอื่นๆควบคู่กับการเสริมสร้างความรู้ ความมั่นคงอุตสาหกรรมข้าวไทยด้วยการผลิตข้าวคุณภาพดีตามความต้องการตลาดตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อให้เกษตรกร ผู้ประกอบการในทุกภาคส่วนตระหนักถึงความจำเป็นในการพัฒนาคุณภาพควบคู่กับการเพิ่มผลผลิต

 

          กระทรวงพาณิชย์จัดงานประชุมข้าวนานาชาติครั้งที่ 7 “Thailand Rice Convention 2015” ขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี มีผู้เข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่า 500 คน ประกอบด้วยผู้แทนการค้าภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวในประเทศผู้ซื้อสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน จีน อิหร่าน อิรัก กานา ไนจีเรีย มาดากัสการ์ เซเนกัล โกตดิวัวร์

 

          รวมถึงผู้แทนการค้าภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแลการนำเข้าข้าวในประเทศผู้ผลิต...ผู้ส่งออก เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า ผู้นำเข้า...ส่งออกทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

 

          ดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ บอกว่า ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีระดับสากลให้ผู้ที่อยู่ในวงการค้าข้าวโลก ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ ได้รับทราบถึงนวัตกรรมและพัฒนาการในด้านต่างๆของวงการค้าข้าว รวมถึงกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้ส่งออกข้าวของไทยและผู้นำเข้าข้าวจากประเทศคู่ค้าทุกภูมิภาคทั่วโลก

 

          งาน Thailand Rice Convention (TRC) จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2554...เกิดผลสำเร็จเป็นอย่างดีเราจึงจัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกๆ 2 ปี

 

          ในปีนี้ตรงกับปีอันเป็นมหามงคล เนื่องในโอกาสครบรอบพระชนมายุ 5 รอบ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อปวงชนชาวไทยในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์ข้าว การเพาะปลูก และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยทั้งประเทศ

 

          รูปแบบการจัดงาน ภายใต้แนวคิด “Think Rice Think Thailand …Serving the Best Quality Rice to the World.” ประกอบด้วยกิจกรรม 3 ส่วนหลัก...การประชุมสัมมนาทางวิชาการ โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ยุทธศาสตร์ด้านการตลาดข้าวและนโยบายการค้าข้าวของไทย”

 

          นอกจากนี้จะมีการเสวนา...อภิปรายทิศทาง แนวโน้ม...“การค้าข้าวโลก” และ “อุตสาหกรรมข้าวอินทรีย์” ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งในและต่างประเทศ ส่วนที่สอง...นิทรรศการ “เทิดเกล้าเจ้าฟ้าสิรินธร” โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เช่น ธนาคารเมล็ดพันธุ์ชุมชน การจัดทำหัตถกรรมในวิถีข้าว โรงเรียนกาสรกสิวิทย์

 

          ถัดมา “Kingdom of Rice” มหัศจรรย์ของข้าวไทยพันธุ์ดีสี่ภาค เป็นการนำเสนอภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะ “อู่ข้าว อู่น้ำ” ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวไทยที่มีแหล่งกำเนิด...เพาะปลูกจากทั่วประเทศ และเส้นทางข้าวไทยที่เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ...เพาะปลูก กลางน้ำ...กระบวนการผลิต แปรรูป ปลายน้ำ...การส่งออกข้าว

 

          เอกลักษณ์ข้าวไทยเน้นคุณประโยชน์ครบวงจร เริ่มจาก “ข้าวหอมมะลิไทย” ที่ครองความเป็นข้าวคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก... “ข้าวอินทรีย์” ที่มาแรงผนวกความมหัศจรรย์...คุณประโยชน์เอาไว้ด้วยกันเป็นได้ทั้งอาหารและโภชนบำบัด เช่น ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก

 

           วาดหวังกันว่าการจัดงานประชุมข้าวนานาชาติครั้งนี้จะเป็นการประกาศศักยภาพข้าวไทยอีกครั้งด้วยตำแหน่งผู้ส่งออกข้าวมากที่สุดของโลกและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ด้วยปริมาณการส่งออกสูงถึง 10.9 ล้านตัน

 

          เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ประมาณ 6.61 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 66...ราคาส่งออกเฉลี่ยตันละ 496 ล้านเหรียญสหรัฐฯ...คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 5,438 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 174,853 ล้านบาท...

 

          ยุทธศาสตร์ข้าวไทยทั้งหมดนี้เป็นการ “ปฏิวัติการค้าข้าว” ทั้งระบบ...อย่างยั่งยืน.

 

ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์