สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/58 ขยายตัว 3% ซึ่งดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/57 เนื่องจากการบริโภคเอกชนดีขึ้นต่อเนื่อง และการลงทุนภาครัฐขยายตัวสูงขึ้นตามการเบิกจ่ายงบประมาณเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สภาพัฒน์ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี)ของไทยในปี 58 เหลือโต 3-4% จากเดิมคาด 3.5-4.5% เนื่องจากคาดว่าส่งออกน่าจะขยายได้ตัวได้เพียง 0.2% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั้งปีนี้มีโอกาสหดตัวถึงขยายตัวในช่วง -0.3 ถึง +0.7%
สาเหตุที่ปรับลดคาดการณ์จีดีพี เนื่องจากการส่งออกไม่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจภายนอก แต่การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งที่ผ่านมาถือว่าช่วยสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจได้นอกเหนือจากนโยบายการคลัง ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกตั้งแต่ไตรมาส 2/58 เป็นต้นไป
สภาพัฒน์ ระบุว่าการขยายตัวของจีดีพี ในปีนี้มีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง (2) การใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ในภาวะที่ความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ดี (3) การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี (4) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และ (5) ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเพิ่มอำนาจซื้อและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
แต่ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การอ่อนค่าของเงินยูโรและเงินเยน และความตกต่ำของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ทำให้การส่งออก อุปสงค์ภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ได้ประมาณการไว้ และทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังไม่สามารถกระจายตัวทั่วถึงทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเกษตรกร และภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตรและการส่งออก
ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 0.2% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.3% และ 6.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟูอทั่วไปอยู่ในช่วง (-0.3) -0.7% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.9% ของจีดีพี
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์