นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติโครงการสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาให้เกษตรกร และสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้งในปี 58 วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่ามีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 1 ล้านราย ประกอบด้วย
1.มาตรการขยายเวลาชำระหนี้เดิมให้เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส.ที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน หรือกรณีพิเศษไม่เกิน 12 เดือน กำหนดระยะเวลาให้สอดคล้องกับรอบการผลิตและที่มาของรายได้ ส่วนสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบจากการชำระหนี้ของสมาชิก จะขยายตารางกำหนดชำระหนี้ที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส.ออกไปไม่เกิน 12 เดือน
2.มาตรการสนับสนุนสินเชื่อระยะสั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน วงเงินรวม 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาคืนหนี้ไม่เกิน 12 เดือน ขอกู้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-15 ต.ค.58 แบ่งเป็น 3 มาตรการย่อย คือ ส่วนที่ 1 เงินกู้ฉุกเฉิน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในระหว่างที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นสินเชื่ออุปโภค บริโภค วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาทเป้าหมายเกษตรกร 1 ล้านราย วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 10,000 บาท อัตรา ดอกเบี้ย 0% ในช่วง 3 เดือนแรก หลังจากนั้นคิดอัตราเอ็มอาร์อาร์ (MRR) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 7%
ส่วนที่ 2 สินเชื่อเพื่อการฟื้นฟูอาชีพหลังประสบภัย เป็นสินเชื่อเพื่อการผลิต วงเงิน 10,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 500,000 ราย วงเงินกู้ ต่อรายไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 7% ชำระไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 18 เดือน ส่วนที่ 3 สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์การเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง เป็นสินเชื่อเพื่อการผลิต วงเงินกู้รวม 10,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมายคือสหกรณ์ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ชำระไม่เกิน 12 เดือน กรณีพิเศษไม่เกิน 18 เดือน อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ (MRR) ลบ 1.25% ซึ่งปัจจุบัน เอ็มอาร์อาร์อยู่ที่ 5%
และมาตรการที่ 3 สินเชื่อระยะยาวเพื่อปรับปรุงระบบการผลิต เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต พัฒนาแหล่งน้ำ ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตใหม่ที่เหมาะสม วงเงิน 30,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 3 ปี (15 ก.ค.58-31 ก.ค.61) หรือปีละ 10,000 ล้านบาท เกษตรกรเป้าหมาย 300,000 ราย วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ลบ 2 โดยเกษตรกรต้องเสนอแผนการปรับปรุงการผลิตให้คณะกรรมการระดับตำบลพิจารณาก่อนยื่นขอสินเชื่อ
นอกจากนี้ บอร์ดได้เห็นชอบการสนับสนุนการออกสลากเพื่อสังคมและการสนับสนุนสินเชื่อให้กับกิจการเพื่อสังคมในวงเงิน 1,000 ล้านบาท รวมทั้งเห็นชอบสนับสนุนสินเชื่อให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินฤดูการผลิตปี 57/58 วงเงิน 16,953 ล้านบาทเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย โดยมีชาวไร่อ้อยได้ประโยชน์มากกว่า 150,000 ราย “มั่นใจว่าภัยแล้งจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 0.5% และต้องติดตามราคาสินค้าเกษตร ทั้งข้าว ยางพารา และสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าออกมาดีช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีเม็ดเงินมาสู่มือผู้ผลิต และเกษตรกรมากขึ้น ส่งผลให้จีดีพีลดน้อยลงกว่าที่คาด แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมต่ำกว่าปีที่แล้ว จีดีพีจะต่ำกว่าที่ประเมินไว้ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่น อย่างจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ยุโรป ไทยไม่ได้แย่กว่า ถ้าปีนี้จีดีพีไทยโตได้ 3% ถือว่าไม่เลวนัก”
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (14 ก.ค.) กระทรวงฯจะรายงานแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของเกษตรกร และประชาชนระดับรากหญ้า ซึ่งกระทรวงฯได้ให้แบงก์รัฐ 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธ.ก.ส. และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดูแลอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ครม.จะพิจารณาอนุมัติวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ไม่เกิน 100,000 ล้านบาท
ด้านนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ยอดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีปีการผลิต 58/59 เติบโตอย่างรวดเร็ว โดย ณ วันที่ 8 ก.ค.58 มียอดจำหน่ายแล้ว 1.33 ล้านไร่ คิดเป็น 89.1% ของพื้นที่เป้าหมายที่ 1.5 ล้านไร่ คาดว่า ยอดขายจะเกินเป้าหมายแน่นอน อย่างไรก็ตาม ในการประชุมร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กรมส่งเสริมการเกษตร ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายพื้นที่การรับประกันภัยข้าวนาปีเพิ่มอีก 500,000 ไร่ รวมเป็น 2 ล้านไร่ โดยจะเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.วันนี้ (14 ก.ค.) สำหรับกรมธรรม์ดังกล่าวจะคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 6 ประเภท และจากศัตรูพืชและโรคระบาด
“ไทยกำลังประสบปัญหาภัยแล้ง ผู้ปลูกข้าว จึงกังวลว่าข้าวที่ปลูกไว้จะได้ผลผลิตต่ำกว่าปกติ จึงต้องหาเครื่องมือรองรับความเสี่ยง โดยหันมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปีมากขึ้น โดยในยอดจำหน่ายกรมธรรม์ 1.33 ล้านไร่นั้น พื้นที่ที่มียอดการจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง และภาคเหนือตอนล่าง โดยจะเปิดขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.-14 ส.ค.58 สำหรับทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ที่จะเปิดขายจนถึงวันที่ 11 ธ.ค. 58”.
ที่มา : ไทยรัฐฉบับพิมพ์