นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) เดือน ก.ค. 58 ว่า ดัชนีเท่ากับ 106.57 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.58 ลดลง 0.07% ซึ่งกลับมาลดลงอีกครั้ง หลังจากเดือน ม.ค.ที่ลดลง 0.59% และจากนั้นเป็นบวกมาโดยตลอด ส่วนเมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 57 ลดลง 1.05% ซึ่งเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 และเฉลี่ยเงินเฟ้อ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 58 ขยายตัวลดลง 0.85%
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ก.ค.ลดลง 1.05% มาจากการลดลงของดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 2.22% ตามการลดลงของหมวดพาหนะ ขนส่งและการสื่อสารที่ลดลง 6.95% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงลดมากถึง 22.53% แต่เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้น 0.87% บันเทิง การอ่าน การศึกษา และการศาสนา สูงขึ้น 1.25% จากการสูงขึ้นของค่าเทอม และยาสูบและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 2.01%
ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 1.10% จากการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง 0.10% ผักและผลไม้ สูงขึ้น 7.76% เครื่องประกอบอาหารสูงขึ้น 0.54% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.49% อาหารสำเร็จรูป สูงขึ้น 1.07% โดยอาหารบริโภคในบ้านสูงขึ้น 0.54% นอกบ้าน 1.97% แต่เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ และสัตว์น้ำ ลดลง 1.03% ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 2.79%
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวง อยู่ระหว่างการประเมินแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั้งปีใหม่ เพราะตัวเลขยังคงขยายตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่วนจะประเมินเป็นเท่าไร ต้องขอพิจารณาปัจจัยต่างๆ ก่อน เพราะเดิมคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 58 อยู่ที่ 0.6-1.3% ภายใต้สมมติฐานผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปีนี้เพิ่มขึ้น 3-4% ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยทั้งปี 50-60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ปัจจัยต่างๆ มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง จากเดิมที่คาดในช่วงปลายปีราคาน่าจะปรับขึ้น ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องแตะที่ 35 บาท/เหรียญฯ แล้ว รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว
“ยังบอกไม่ได้คาดการณ์เงินเฟ้อใหม่จะเพิ่มขึ้นหรือลดจากเดิม เพราะน้ำมันตลาดโลกลดลงมากก็จริง แต่เงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก ก็ทำให้ราคานำเข้าน้ำมันสูงขึ้น และอาจทำให้ราคาขายปลีกในประเทศสูงขึ้นด้วย แต่คาดว่า แนวโน้มเงินเฟ้อในเดือนต่อๆ ไปจะยังคงลดลง และน่าจะเริ่มกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาสที่ 4 หรือตั้งแต่เดือนก.ย.เป็นต้นไป แต่ไตรมาส 3 เงินเฟ้อน่าจะยังขยายตัวติดลบ 0.3-0.5%”
นายสมเกียรติ กล่าวต่อถึงกรณีที่เงินเฟ้อติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ว่า ยังไม่สะท้อนภาวะเงินฝืดในประเทศ เพราะอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ลดลง ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้า และค่าขนส่งลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ราคาสินค้าลดลง แต่ที่ประชาชนไม่ซื้อสินค้า หรือยังรู้สึกว่าสินค้าแพง ทั้งๆ ที่สินค้าส่วนใหญ่ราคาลดลง เพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เพิ่มขึ้น รวมทั้งไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจ จึงชะลอการใช้จ่าย เพื่อเก็บเงินไว้มากกว่า ขณะเดียวกัน ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน ที่หักสินค้าหมวดอาหารสด และพลังงานออกจากการคำนวณยังเพิ่มขึ้น โดยในเดือน ก.ค.58 เท่ากับ 105.93 เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.58 และเพิ่มขึ้น 0.94% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 57 และเฉลี่ย 7 เดือน เพิ่มขึ้น 1.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังซื้อของอยู่แต่อาจซื้อน้อยลง.
ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์