ธปท.ออกธนบัตรใหม่ 1000 บาท ออกใช้ 21 ส.ค.นี้

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงว่า ธปท. จะนำธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท แบบใหม่ (แบบ 16) ออกใช้ในวันที่ 21 สิงหาคม 2558 โดยธนบัตรชนิดราคานี้จัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระปิยมหาราช จึงออกแบบให้เรื่องราวในธนบัตรแสดงถึงพระราชกรณียกิจอันสำคัญของพระองค์ นอกจากนี้ยังได้พัฒนำรูปแบบให้สวยงาม และมีเทคโนโลยีต่อต้านการปลอมแปลงที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชน ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน รวมถึงผู้บกพร่องทางสายตาสามารถตรวจสอบได้โดยง่าย

 

 

          ธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท แบบใหม่ (แบบ 16) มีขนาดกว้าง 72 มิลลิเมตร และยาว 162 มิลลิเมตรสีโดยรวมเป็นสีน้ำตาลเช่นเดียวกับแบบที่ใช้ในปัจจุบัน (แบบ 15) โดยมีลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงที่สำคัญ ดังนี้

 

          1. ลายน้ำ พระบรมฉายาสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน และตัวเลข “๑๐๐๐” ที่มีความโปร่งแสงเป็นพิเศษ มองเห็นได้ชัดเจนทั้งสองด้าน เมื่อยกส่องกับแสงสว่าง

 

          2. หมึกพิมพ์พิเศษสลับสีพร้อมตัวเลขแฝง ลายประดิษฐ์สีทองจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อพลิกเอียงธนบัตร และภายในมีตัวเลข “1000” ซ่อนไว้

 

          3. หมึกพิมพ์พิเศษสีเหลือบแดง เมื่อพลิกเปลี่ยนมุมมอง จะเห็นแถวตัวเลข “1000” สลับกับลายประดิษฐ์ในแนวตั้ง เป็นสีเหลือบแดง

 

          4. แถบฟอยล์3 มิติ ผนึกไว้ตามแนวตั้ง ในแถบมีตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 จะเปลี่ยนสีสะท้อนแสงวาววับเมื่อพลิกธนบัตรไปมา ภายในตราสัญลักษณ์ฯ มีตัวเลข “1000” เมื่อพลิกเอียงจะเปลี่ยนเป็นตัวเลข “๑๐๐๐”

 

 

          5. แถบสี่เหลี่ยมเคลื่อนไหวสลับสี ฝังในเนื้อกระดาษ มีบางส่วนของแถบปรากฏให้เห็นเป็นระยะเมื่อพลิกธนบัตรขึ้นลงจะเห็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดเล็กสีม่วงแดงเคลื่อนไหว และจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเมื่อเปลี่ยนมุมมอง

 

          6. สัญลักษณ์สำหรับผู้บกพร่องทางสายตา เส้นนูนแนวนอนเรียงลดหลั่นกัน นำสู่สัญลักษณ์อักษรเบรลล์ที่พิมพ์นูนเป็นรูปดอกไม้ 4 ดอก แทนอักษร “T” ที่ย่อจาก Thousand 

 

          ธนบัตรชนิดราคา 1000 บาท แบบใหม่นี้ สามารถแลกได้ที่สาขาธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง ทั่วประเทศและธนบัตรแบบที่ใช้ในปัจจุบันรวมทั้งแบบที่ใช้ก่อนหน้านี้ ยังคงชำระหนี้ได้ตำมกฎหมาย

 

ที่มารูปภาพ : โพสต์ทูเดย์

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)