ตลาดค้าปลีก

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

 

หากนับถอยหลังการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ในปี 2558 หลายฝ่ายอาจมองว่าเหลือเวลาอีกหลายปี  แต่ในความเป็นจริงการเตรียมพร้อมรับมือคงไม่สามารถกระทำได้ในช่วงเวลา 1-2 เดือน โดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่มีผลบังคับใช้ทันที สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงร่วมมือกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) ตลอดจนภาคธุรกิจต่างๆ จัดงานสัมมนาขึ้นภายใต้หัวข้อ  "โค้งสุดท้ายสู่ AEC รู้สู้ Free Flow of Service" เตรียมรับมือกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในปี 2558 

โดยมุ่งเน้นผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจภาคบริการ ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 3 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศ  โดยนายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในมิติของ Service in multi-cultural society  ว่า เมื่อเปิดเออีซีกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชนชั้นกลางจะเข้ามามีบทบาทในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยปี 2563 คาดว่าสัดส่วนกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางจะเพิ่มเป็น 54% และ 66% ในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 23% ของประชากรที่ใช้จ่ายทั้งหมด  ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะดึงเข้ามาใช้จ่ายภายในประเทศผ่านการท่องเที่ยวและภาคบริการต่างๆ 

ทั้งนี้ กลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางนั้นตลาดใหญ่จะเป็นผู้บริโภคชาวจีน และอินเดีย ซึ่งหากต้องการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวและบริการเชื่อว่าจะมองหาไทยเป็นประเทศแรกๆ รวมทั้งพม่า และกัมพูชาด้วย เนื่องจากไทยเป็นจุดศูนย์กลางของภูมิภาค และเมื่อธุรกิจบริการขยายตัวย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจโลจิสติกส์ให้เติบโตขึ้นด้วย เพราะทุกธุรกิจจะต้องมีการขนส่งสินค้าและบริการทุกอย่าง

ขณะที่ประเทศไทยเองก็ถือว่ามีศักยภาพในระบบโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียนและได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค แต่สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องเร่งพัฒนาและเพิ่มศักยภาพระบบโลจิสติกส์ให้มากขึ้น ทั้งการขนส่งสินค้าทางน้ำ ทางรถไฟ รวมถึงทางอากาศ จากปัจจุบันที่เน้นการขนส่งทางบกเท่านั้น ขณะเดียวกันจะต้องบริหารจัดการต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ต่ำลงจากปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 15% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐฯต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำกว่า 10% อีกทั้งไทยมีต้นทุนสูงกว่าสิงคโปร์ และมาเลเซียด้วย

นอกจากนี้ หากเปิดเออีซีคาดว่าธุรกิจโลจิสติกส์จะมีการแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น เพราะการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างประเทศจะมีจำนวนมากขึ้น และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจโลจิสติกส์ระดับโลกเข้ามาในประเทศไทยเกือบทุกรายแล้ว ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพิ่มความหลากหลายในภาคการขนส่ง

"ไทยถือเป็นศูนย์กลางการขนส่งทั้งทางบก ทางอากาศ  แต่กุญแจสำคัญคือรัฐบาลควรทำให้ระบบโลจิสติกส์ของไทยได้ประโยชน์สูงสุดจากจุดแข็งดังกล่าวต่อเนื่องใน 5-10 ปีข้างหน้าทั้งการเตรียมพร้อมที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า(ดีซี)ในภูมิภาค มีการลงทุนพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้ต่ำลง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน และมีการสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในภูมิภาคด้วย "

อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดเออีซีเป็นโอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งปัญหาขาดแคลนแรงงานใน 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเตรียมพร้อมแบบรอบด้าน

ด้านนายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า เมื่อเปิดเออีซีจะผลักดันให้ภาคธุรกิจบริการมีการขยายตัวมากขึ้น และจะเพิ่มสัดส่วนรายได้ให้กับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% ขณะเดียวกันสัดส่วนของภาคการผลิตจะลดลง เพราะหากพิจารณาแล้วภาคการผลิตสัดส่วน 40% นั้นจะต้องพึ่งพาการทำตลาด ซึ่งถือเป็นภาคบริการ ทั้งท่องเที่ยว รวมทั้งค้าปลีกที่มีโอกาสเติบโตได้มากทั้งในและต่างประเทศ 

 ส่วนธุรกิจค้าปลีกที่มีศักยภาพเข้าไปบุกตลาดเพื่อนบ้านนั้น ได้แก่ ร้านเฉพาะอย่างหรือสเปเชียลตี สโตร์ เช่น ร้านจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ร้านจำหน่ายสินค้ากีฬา เป็นต้น เพราะเป็นช่องทางที่จะทำให้สินค้าอินเตอร์แบรนด์เข้าไปทำตลาดได้ สัดส่วนถึง 90% และสินค้าในท้องถิ่น(โลคัล) 10% เท่านั้น ขณะที่ธุรกิจร้านอาหารเข้าไปบุกตลาดยาก เพราะต้องพึ่งพาสินค้าท้องถิ่นถึง 90% จึงจำกัดให้ผู้ประกอบการแบรนด์ไทยเข้าไปเติบโตได้ยาก 

นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าที่จำหน่ายแบรนด์ระดับหรู(ลักชัวรี ดีพาร์ตเมนต์สโตร์ )ในประเทศก็มีโอกาสเติบโตขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นราว 20 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบัน 16 ล้านคน แต่ต้องการให้รัฐบาลลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าหรูให้ใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียอยู่ที่ 0-5% สิงคโปร์ -0% แต่ไทยกลับอยู่ที่ระดับ 30-40% ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเลือกที่จะไปประเทศเพื่อนบ้านแทน

"เมื่อเปิดเออีซีเชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกของไทย เพราะถือว่าเป็นธุรกิจที่มีความเข้มแข็งและเป็นอันดับหนึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีศักยภาพสร้างรายได้ให้กับประเทศ ขณะเดียวกันยังเป็นหัวจักรสำคัญในการนำพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าไปเติบโตในภูมิภาคด้วย เพราะการเข้าไปลงทุนห้างค้าปลีกแต่ละครั้งจะต้องมีผู้ผลิตสินค้า(ซัพพลายเออร์)พ่วงไปด้วยถึง 3  พันราย จากในประเทศค้าปลีกมีซัพพลายเออร์กว่า 3 หมื่นราย แต่การที่เอกชนจะนำทัพไปได้รัฐบาลเองก็ควรมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนว่าเราไปแล้วจะได้อะไรกลับมา" นายฉัตรชัย กล่าว 

ปัจจุบันผู้ประกอบการภาคเอกชนมีการเดินหน้าและเตรียมความพร้อมเข้าสู่เออีซีอย่างมาก ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในด้านนโยบายใดๆ รวมทั้งกฎระเบียบข้อกฎหมายที่จะดำเนินการให้สอดคล้องกับเออีซี

ด้านนายชาญ ศรีวิกรม์ ประธานบริหาร บริษัท เกษรพร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ผู้ประกอบการภาคเอกชนมีการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อรองรับการเปิดเออีซีแล้ว โดยไม่ได้รอรัฐบาล ซึ่งในส่วนของธุรกิจนั้นมีการปรับตัวทั้งการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน และปกป้องธุรกิจในประเทศของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศทั้งค้าปลีก อาคารสำนักงานจะต้องเร่งหาทำเลที่ดีในการลงทุนขยายธุรกิจเพื่อชิงความเป็นผู้นำและตอบสนองความต้องการให้ผู้บริโภคในอนาคต 

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าลักชัวรีแบรนด์ จะต้องมีการปรับตำแหน่งสินค้าให้สอดคล้องกับภูมิภาค เพราะเมื่อเปิดเออีซีอินเตอร์แบรนด์ไม่ได้เข้ามาทำตลาดแค่ในประเทศไทย แต่ก็ไปเจาะตลาดประเทศเพื่อนบ้านด้วย และแนวโน้มตลาดในช่วง5-10 ปีข้างหน้า ตลาดลักชัวรีก็จะมุ่งมายังภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น 

"ปี 2558 เป็นปีที่ภาครัฐตั้งธงไว้ว่าการเปิดเออีซีจะมีผลกระทบและต้องเร่งดำเนินการเจรจาตกลงในเรื่องกฎหมายและกฎระเบียบให้เรียบร้อย แต่ในส่วนของภาคธุรกิจนั้นไม่จำเป็นต้องรอผลดังกล่าว สามารถเตรียมพร้อมและปรับตัวก่อนที่เออีซีจะมีผลด้วย เห็นได้จากองค์กรภาคธุรกิจทั้ง 3 ระดับ ได้แก่ บริษัท ขนาดใหญ่อย่าง ปตท.  ซีพี,  ไทยเบฟที่มีการขยายธุรกิจไปยังภูมิภาคมากขึ้น  ธุรกิจขนาดกลาง ก็พยายามขยายห่วงโซ่ธุรกิจไปในต่างประเทศเช่นกันรวมทั้งมีการปกป้องธุรกิจในประเทศด้วย และ3 ธุรกิจที่ให้บริการผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาวิชาชีพ(โพรเฟสชันนัล  เซอร์วิส) เช่น วิศวกร สถาปนิก ก็เตรียมพร้อมหมดแล้ว ภาพรวมใหญ่ที่ขับเคลื่อนจริงๆคือภาคเอกชนนั่นเอง"



จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,765  12-15  สิงหาคม พ.ศ. 2555