IMF รับเงินหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 ตระกร้าเงิน-ธปท.เผยไทยได้ประโยชน์ทำสวอปค่าเงินแล้ว 70 พันล้านหยวน

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

IMF รับเงินหยวนของจีนเข้าสู่ตะกร้าเงินถือเป็นทุนสำรองได้เหมือนอีก 4 สกุล ธปท.เผยไทยได้ประโยชน์ทั้งการค้าและการลงทุน เผยสวอปเงินหยวนแล้ว 70 พันล้านหยวนหรือ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยจีนให้ธนาคาร ICBC ในไทยทำหน้าที่เป็น Clearing Bank

 

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2558 นางคริสติน ลาการ์ด ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(The International Monetary Fund)กล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการรวมเอาเศรษฐกิจของจีนเข้าสู่ระบบการเงินของโลก

 

เงินหยวนหรือเรียกเป็นทางการว่า เหรินหมินบี้ จะเข้าร่วมอยู่ในตะกร้าเงินของไอเอ็มเอฟนับเป็นสกุลที่ 5 หลังจากก่อนหน้านี้มีเงินสกุลดอลลาร์ของสหรัฐ,เงินเยนญี่ปุ่น,เงินยูโรและเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ ที่ไอเอ็มเอฟใช้เป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ

 

นางลาการ์ดยอมรับว่าการยอมรับของไอเอ็มเอฟครั้งนี้เพราะเมื่อปีที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่จีนได้มีความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบการเงินของตน อีกทั้งเมื่อปีที่แล้วจีนได้เรียกร้องให้ไอเอ็มเอฟนำเงินของตนเข้าไปอยู่ใน Special Drawing Rights

 

นางลาการ์ดกล่าวว่าการยอมรับเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินนั้นไอเอ็มเอฟมีความหวังว่าจะช่วยจีนให้เปิดตวเองเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของโลกมากขึ้น  รวมทั้งจะช่วยให้เกิดความเติบโตและมีเสถียรภาพไม่เพียงแต่เศรษบกิจจีนเท่านั้นแต่ยังหมายถึงระบบเศรษฐกิจโลกทั้งมวล

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วจีนประกาศว่าการที่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆยอมรับที่จะให้เงินสกุลหยวนเข้าสู่ตลาดเงินของโลกนั้นจะทำให้เงินหยวนใช้เป็นเงินตราอีกสกุลหนึ่งในการแลกเปลี่ยนและการค้าระหว่างประเทศด้วย

 

ทั้งนี้ประเทศสมาชิกของ IMF สามารถกู้ยืมเงิน Special Drawing Rights เพื่อนำไปใช้จ่ายได้ตามความจำเป็นโดยกองทุนจะเข้าไปช่วยเมื่อประเทศสมาชิกเกิดวิกฤติทางการเงินอาทิเช่นประเทศกรีซมีปัยหาทางเศรษฐกิจก็สามารถขอกู้ SDR ได้   

 

สำหรับ Special drawing rights (XDR หรือ SDR) เป็นเงินทุนสำรองที่  IMF เป็นผู้ถือไว้ จะมีการทบทวนทุก 5 ปี จากครั้งล่าสุดปี 2010 พบว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ  U.S. dollars ($) 41.9%, เงินยูโร (€) 37.4%, เงินปอนด์สเตอร์ลิง  (£) 11.3%, และเงินเยนญี่ปุ่น  (¥) 9.4%  เมื่อ IMF ตัดสินใจนำเงินหยวน (¥) เข้าสู่ตะกร้าก็คิดเป็น 10.92%  

 

การนำเงินหยวนเข้าสู่ตะกร้าเงินไอเอ็มเอฟมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559

 

ทางด้านนายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การที่คณะกรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) การเพิ่มเงินสกุลหยวนของจีนเข้าเป็น 1 ใน 5 เงินสกุลหลักของโลกที่จะประกอบขึ้นมาเป็น SDR (Special Drawing Rights) ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 เป็นการยืนยันบทบาทของจีนและของเงินหยวนในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง

 

ส่วนผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินของโลกอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว นักลงทุนอาจมีการปรับสัดส่วนการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงตามสกุล SDR แต่คาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

“หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้าและการลงทุนจากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายขึ้นในระยะต่อไป เพราะจากนี้ไปความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุน จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามความสะดวกคล่องตัวที่จะเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีน และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ” รองผู้ว่าการฯธปท. กล่าว

 

นายเมธี กล่าวว่าในส่วนของ ธปท. ได้เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงินสำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและจีนมาอย่างต่อเนื่อง

 

ล่าสุดธปท.ได้ทำสวอปค่าเงิน ข้อตกลง BSA (Bilateral Swap Arrangement) กับจีนในวงเงิน 70 พันล้านหยวน หรือประมาณ 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวนหากเป็นที่ต้องการของระบบการเงินไทย

 

ในส่วนของทางการจีน ได้แต่งตั้งธนาคาร ICBC (Industrial and Commercial Bank of China (Thai)) เป็นธนาคารเพื่อการชำระดุลเงินหยวน (Clearing Bank) ในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนการบริหารสภาพคล่องเงินหยวนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 

ก่อนหน้านี้นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า สกุลเงินหยวนมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ในตลาดการเงินโลก ล่าสุดมีการใช้เงินหยวนทำธุรกรรมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แซงหน้าเงินยูโรและเยน ภายในเวลาไม่กี่ปี ซึ่งไม่เพียงเกิดจากการค้าข้ามพรมแดนจากจีนเท่านั้น แต่ยังมีความนิยมใช้เงินหยวนนอกตลาดจีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์

 

สำหรับประเทศไทยยังมีศักยภาพในการทำธุรกรรมเงินหยวนเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันการค้าระหว่างไทย-จีน มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 6.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่มีการใช้เงินหยวนไม่ถึง 1% ธนาคารกรุงเทพจึงจะผลักดันให้ลูกค้าที่ทำการค้ากับจีนหันมาเสนอราคาเป็นสกุลเงินหยวน เพราะสามารถลดต้นทุนการสวอปเงินสกุลที่ 3 และเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจมีกำไรเพิ่มขึ้น

 

ทางด้านหนิง ฟู่ขุย เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า การชำระเงินหยวนในไทยมีทิศทางเพิ่มขึ้น หลังมีการตั้งธนาคารชำระดุลเงินหยวน โดยปี 2557เติบโตประมาณ 13% หรืออยู่ที่ 5,570 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการชำระเงินผ่านยูเนียนเพย์ 1.56 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้น 10%

 

แต่ระบบการชำระเงินระหว่างกันยังต้องพัฒนาอีกมาก เนื่องจากมี นักท่องเที่ยวจีนที่ไม่สามารถใช้บัตรยูเนียนเพย์ในไทยได้อย่างแพร่หลาย ใช้ได้เพียงโรงแรมหรือห้างขนาดใหญ่เท่านั้น     

 

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคาร ICBC วันที่ 1 ธันวาคม 2558 โดย 1 หยวนแลกได้ 5.21 บาท

 

ที่มา-ไทยทริบูน