เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 สำนักพยากรณ์อากาศของออสเตรเลียรายงานว่าปรากฎการณ์เอล นิโญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิอากาศทุกส่วนของโลกในปี 2015 นั้นกำลังจะสิ้นสุดลงในไตรมาสแรกของปี 2016 จะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้
จากนั้นในครึ่งหลังของปี 2016 อาจจะเกิดปรากฎการณ์ลา นิญ่า ตามมา
ปรากฎการณ์ลา นิญ่า อยู่ตรงข้ามกับเอล นิโญ่ สิ้นเชิง กล่าวคืออุณหภูมิบริเวณเส้นศูนย์สูตรของมหาสมุนทรแปซิฟิกจะเย็นกว่าปกติ (เอล นิโญ่ ทำให้อุณหภูมิเหนือผิวน้ำในบริเวณเดียวกันนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ)
สำนักพยากรณ์อากาศออสเตรเลียเปิดเผยว่าจากสถิติของเกิดปรากฎการณ์เอล นิโญ่ 26 ครั้งตั้งแต่ปีค.ศ. 1900 เป็นต้นมา หลังจากปรากฎการณ์นี้แล้วภูมิอากาศจะเป็นปกติ 50 % ขณะเดียวกันโอกาสที่จะเกิดปรากฎการณ์ลา นิญ่า ก็มีถึง 40 % ดังนั้นครึ่งปีหลัง 2016 นี้โอกาสที่จะเกิดอากาศปกติและเกิดลา นิญ่า มีเท่าๆกัน
ลา นิญ่า ก็ส่งผลกระทบต่อการเกษตรกรรมของโลกเพราะอุณหภูมิของโลกตรงกันข้ามกับเอล นิโญ่ โดยเฉพาะในเขตสหรัฐนั้นประวัติศาสตร์บอกว่าอากาศจะแห้งแล้งกว่าปกติเมื่อเกิด ลา นิญ่า ส่วนทวีปออสเตรเลีย,อินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรอากาศจะชื้นกว่าปกติ ปรากฎการณ์นี้จะเกิดขึ้นและสิ้นสุดระหว่าง 9-12 เดือน จากสถิติที่เกิดลา นิญ่า ในปี 2010 และ 2012 ตามลำดับ
อะไรคือปรากฎการณ์ลา นิญ่า
ลา นิญา เป็นภาษาสแปนิช ( La Niña) คือปรากฏการณ์บรรยากาศมหาสมุทรคู่กันซึ่งเกิดขึ้นคู่กับเอล นิโญ่ ช่วงที่เกิดลา นิญา อุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลตลอดมหาสมุทรแแปซิฟิกตอนกลางตะวันออกแถบเส้นศูนย์สูตรจะต่ำกว่าปกติ 3-5 °C
ผลกระทบของลา นิญา ส่วนใหญ่จะตรงข้ามกับของเอล นิโญ่ ตัวอย่างเช่น เอล นิโญ่จะทำให้เกิดฝนตกในสหรัฐอเมริกาตอนกลางค่อนมาทางตะวันตก แต่เมื่อเกิดปรากฎการณ์ลา นิญาจะทำให้เกิดความแห้งแล้งในพื้นที่เดียวกันของสหรัฐ
ลา นิญา ทำให้ฝนตกหนักในออสเตรเลีย อาจเกิดเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งร้ายแรง และอาจทำให้เกิดความหายนะแบบเดียวกันในบราซิลตะวันออกเฉียงใต้และมีส่วนทำให้เกิดฝนตกหนักและอุทกภัยตามมาในประเทศศรีลังกา
ลา นิญ่า เกิดผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไร
ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาอธิบายว่า ปี 2554 (2011)อยู่ในช่วงปรากฎการณ์ลา นิญ่า ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ ปรากฏการณ์ลา นิญ่าเกิดขึ้นช่วงกลางปี 2553 และต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2554 โดยมีกำลังแรงช่วงปลายปี 2553 จนถึงต้นปี 2554
จากนั้นสภาพลา นิญ่าอ่อนตัวลงจนเข้าสู่สภาพเป็นกลาง ช่วงระหว่างเดือนมิ.ย.- ก.ย. และค่อยๆ เริ่มกลับสู่สภาวะลา นิญ่าอีกครั้งช่วงปลายปี ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ อีกทั้งยังทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติ โดยในปี 2554 ฝนเริ่มตกตั้งแต่เดือนมีนาคมและทำให้มีปริมาณน้ำฝนสะสมจำนวนมาก และมีฝนตกหนักในช่วงเดือนกันยายน-พ.ย.2554
ในช่วงต้นปี 2555 สถานการณ์ของปรากฏการณ์ลา นิญ่า ที่เกิดขึ้นยังมีอิทธิพลอยู่จนถึงกลางปีโดยอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณตอนกลางมหาสมุทรแปซิฟิกเขตศูนย์สูตรจะอยู่ในภาวะปกติ
หากเป็นไปตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลียพยากรณ์ไว้ว่าช่วงหลังของปี 2016 จะเกิดปรากฎการณ์ ลา นิญ่า ขึ้นและอาจสิ้นสุดระหว่าง 9-12 เดือนก็หมายความว่าประเทศไทยอาจมีฝนตกทำให้ลดภาวะแห้งแล้งลงไปได้จะเกิดผลดีต่อการเกษตรของประเทศไทย
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลก
ปรากฎการณ์ลา นิญ่า ทำให้มีการออกคำเตือนมายังเกษตรกร,เจ้าของเหมืองแร่และนักค้าพืชผลตลาดล่วงหน้าจะต้องจับตาดูให้ดี หากเกิดลา นิญ่าจะทำให้เกิดฝนตกในเอเชียนตะวันออกเฉียงใต้,ออสเตรเลียและเกิดภาวะแห้งแล้งในเขต Midwest ของสหรัฐ (แถวรัฐอิลลินอยส์,มิชิแกน)
เมื่อปี 2012 สหรัฐได้รับผลกระทบจากลา นิญ่าจากการที่เมล็ดธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมันผลิตได้ไม่ดีและเสียหายเพราะความแห้งแล้ง
เมื่อปี 2010-2011 เกิดปรากฎการณ์ลา นิญ่า กระทบต่อเหมืองแร่ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลียเพราะเกิดพายุไซโคลน ฝนตกหนักน้ำท่วมเหมืองแร่เสียหาย
ที่ประเทศโคลอมเบีย เกิดฝนตกทำให้ต้นกาแฟเสียหายไม่เพียงเท่านั้นต้นกาแฟยังมีเชื้อรา (fungus)ลุกลามตามมา
แผนที่กรณีการเกิดปรากฎการณ์ลา นิญ่า จะบอกว่าส่วนใดของโลกแห้งแล้ง,หนาวเย็น,ฝนตกหรือ Wet
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ปรากฎการณ์เอล นิโญ่ คืออะไร
สำหรับภาวะ เอล นิโญ (The El Niño climate phenomenon) เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระแสน้ำอุ่นพัดมาแทนที่กระแสน้ำเย็นใน บริเวณเส้นศูนย์สูตรขอ
งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออก (บริเวณชายฝั่งประเทศเอกวาดอร์ เปรูและชิลีตอนเหนือ)ทำให้กระแสน้ำเย็นด้านล่างไม่สามารถหมุนวนขึ้นมาที่บริเวณพื้นผิวทะเลได้
อุณหภูมิผิวน้ำทะเลจึงสูงขึ้นทำให้อากาศเหนือบริเวณดังกล่าวลอยตัวขึ้นและกลั่นตัวเป็นเมฆฝน บริเวณชายฝั่งเอกวาดอร์,เปรูและชิลีตอนเหนือ จึงชุ่มชื้นเพราะมีพายุและฝนตกมาก
การที่กระแสคลื่นไหลไปทางมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกทำให้เกิดความกดอากาศสูงเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ในพื้นที่บริเวณชายฝั่งออสเตรเลีย อินโดนีเซียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะแห้งแล้ง
เอล นิโญ่ อธิบายได้ง่ายๆว่ามหาสมุทรแปซิฟิกปล่อยความร้อนจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นของบรรยากาศ จะทำให้อากาศทั่วโลกเกิดความแปรปรวนไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น
สิ่งที่จะเกิดก็คือฤดูมรสุมที่จะมีฝนตกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ไม่ตก,เกิดความแห้งแล้งทางภาคใต้ของออสเตรเลีย,ฟิลิปปินส์และเอกวาดอร์,เกิดพายุหิมะในสหรัฐ,เกิดคลื่นความร้อนพัดผ่านบราซิลและเกิดน้ำท่วมอย่างหนักในเม็กซิโก
เอล นิโญ่ ที่เคยเกิดขึ้นจะทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้นด้วย
ที่มา : ไทยทรีบูน