นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยหลังเป็นประธานในการเปิดการสัมมนาโค้งสุดท้ายมาตรการบัญชีชุดเดียวเรื่อง “การแก้ไขข้อผิดพลาดทางการบัญชีเพื่อรองรับการปฏิบัติตามมาตรการบัญชีชุดเดียว รุ่นที่ 3” ร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาวิชาชีพบัญชี โดยระบุว่า ยอดจดแจ้งผู้ประกอบการทำบัญชีเดียวที่เปิดตั้งแต่ 15 มกราคม-15 มีนาคม 2559 หลังหักรายได้ที่ซ้ำซ้อนแล้วมี 4.3 แสนราย สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 3.5 แสนราย คาดว่าเมื่อปิดให้จดแจ้งแล้วจะมีผู้ประกอบการเข้ามาทำบัญชีเดียวครบ 100% ซึ่งจะทำให้กรมสรรพากรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปรับปรุงงบการเงินรอบบัญชีปี 2558 ที่จะยื่นในวันที่ 29 พฤษภาคม 2559 ให้ถูกต้อง เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการจัดทำบัญชีเดียวหลังจากนี้ ในวันที่ 28 มีนาคม 2559 จะให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการเกี่ยวกับลงรายจ่ายอย่างไรให้ถูกต้องครบถ้วน มีการทำคู่มือรายจ่าย เอกสารประกอบการทำบัญชี ร่วมกับสภาวิชาชีพบัญชี และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมีกรมสรรพากรเป็นพี่เลี้ยง
“ถ้าผู้ประกอบการไม่เข้าระบบ เวลาที่ปรับมาใช้ระบบการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเพย์เมนต์ เราจะทราบความเคลื่อนไหวทางการเงินทั้งหมด ทั้งการชำระเงินต่างๆ ข้อมูลจะเข้ามายังกรม ซึ่งจะสามารถตรวจสอบการเสียภาษีได้ทันที”
นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายการเรียกดูข้อมูลบุคคลที่ 3 จากสถาบันการเงิน ซึ่งจะเป็นการส่งข้อมูลมายังกรมสรรพากรโดยอัตโนมัติ ซึ่งสามารถตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ตลอดจนรายได้เพื่อมาตรวจสอบการเสียภาษีได้ในทันที โดยคาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ภายในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะส่งผลให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในประเทศเพิ่มขึ้น 30% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปัจจุบันเก็บได้ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี
การเชื่อมข้อมูลกับระบบของธนาคารพาณิชย์จะทำให้การจัดเก็บภาษีรั่วไหลลดลง จะเห็นผลชัดเจนโดยเฉพาะในกลุ่มประกอบการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีคอมเมิร์ซ) ที่มีการโอนเงินรายได้ผ่านบัญชีธนาคาร ทั้งในส่วนที่เป็นผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมก็จะตรวจสอบภาษีได้ครอบคลุมมากขึ้น
“ยืนยันว่ากรณีดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เสียภาษี เพราะคนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ และการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวก็เป็นการปรับปรุงให้ทันสมัย ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีความโปร่งใสมากขึ้น”
นายประสงค์ กล่าวว่า ตนเองได้หารือกับ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ขยายเวลายื่นเสียภาษีย้อนหลังได้ถึง 30 มิถุนายน 2559 จากกรณีที่ผู้ประกอบการบางรายมีรอบบัญชีเกินวันที่ 31 ธันวาคม มาถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ รวมถึงเตรียมเสนอมาตรการนี้ให้แก่ธุรกิจเฉพาะด้วย โดยไม่เสียค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่มใดๆ ทั้งสิ้น
ขณะเดียวกัน สรรพากรก็กำลังอยู่ระหว่างศึกษาให้ผู้ประกอบการโอทอปเข้าสู่ระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้นักท่องเที่ยวขอภาษีคืน (Tax Refund) ได้ โดยจะปรับเงื่อนไขลดทุนจดทะเบียน 5 แสนล้านบาท จากปกติ 2 ล้านบาท คาดว่าจะมีเข้าระบบประมาณ 20% ที่เป็นนิติบุคคลรายใหญ่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศภายในเดือนมีนาคมนี้ กรมสรรพากรจะเสนอ ครม.เห็นชอบการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยขณะนี้ได้มีแนวทางเดียวแล้ว ซึ่งจะปรับปรุงให้ผู้ที่เสียภาษีได้ประโยชน์ ทั้งในส่วนของค่าลดหย่อน ค่าใช้จ่าย และอัตราภาษี
ที่มา-MGR Online