“คลัง” เชิญชวนผู้มีรายได้น้อยร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

       “คลัง” เชิญชวนผู้มีรายได้น้อยร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ พร้อมจับมือ 3 แบงก์รัฐเปิดรับลงทะเบียน ลั่นต้องการให้ รบ.มีข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสม และเป็นความลับ ไม่มีการเอาไปทำอะไรทั้งสิ้น

      นายพรชัย ฐีระเวช รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า ตามที่ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.59 มีมติรับทราบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูลที่ถูกต้องในการจัดสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสมต่อไป จึงขอเชิญชวนประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนโดยมีเงื่อนไข และวิธีการที่สำคัญ ดังนี้ 

       1.คุณสมบัติของผู้มีสิทธิลงทะเบียน : ต้องมีสัญชาติไทย มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 ส.ค.41 และต้องว่างงานหรือมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาทในปี 2558 ทั้งนี้ ผู้ลงทะเบียนจะต้องยินยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของตน เช่น รายได้ การถือครองทรัพย์สิน หนี้สินที่คงค้าง เป็นต้น เพื่อให้รัฐบาลมีข้อมูลสำหรับนำไปใช้ในการจัดทำสวัสดิการของรัฐ       

       2.ช่วงเวลาในการลงทะเบียน : ระหว่างวันที่ 15 ก.ค.ถึง 15 ส.ค.59  

       3.หลักฐานที่ต้องใช้ในการลงทะเบียน : บัตรประจำตัวประชาชน

       4.สถานที่ลงทะเบียน : สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยลงทะเบียนที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่งเท่านั้น

       5.วิธีการลงทะเบียน มี 2 วิธี :

       วิธีที่ 1 : การกรอกแบบลงทะเบียน ณ ธนาคาร ให้ดำเนินการดังนี้

       1) ยื่นบัตรประชาชนให้แก่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร

       2) รับแบบลงทะเบียนจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร แล้วกรอกแบบลงทะเบียนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วยตนเอง

       3) เจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้เอกสาร (เป็นหางตั๋วแผ่นเล็กๆ) ให้ผู้ลงทะเบียนเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานการลงทะเบียน

 

       วิธีที่ 2 : การกรอกแบบลงทะเบียนจากสถานที่อื่น แล้วจึงนำมายื่นที่ธนาคาร ให้ดำเนินการ ดังนี้       

       1) ดาวน์โหลดแบบลงทะเบียนจากเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน หรือธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

       2) กรอกแบบลงทะเบียนพร้อมทั้งลงลายมือชื่อด้วยตนเอง

       3) ติดต่อที่สาขาของธนาคาร โดยยื่นบัตรประชาชนพร้อมทั้งแบบลงทะเบียนตามข้อ 2) ให้แก่เจ้าหน้าที่ของธนาคาร

       4) เจ้าหน้าที่ธนาคารจะให้เอกสาร (เป็นหางตั๋วแผ่นเล็กๆ) ให้ผู้ลงทะเบียนเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานการลงทะเบียน

       6.การตรวจสอบผลการลงทะเบียน : ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 เป็นต้นไป ผู้ลงทะเบียนสามารถเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร แล้วกรอกหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชนของตน โดยระบบจะแจ้งผลการลงทะเบียนให้ทราบว่า ได้ลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วหรือไม่

       7.การจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย : รัฐบาลจะบูรณาการฐานข้อมูลแล้วนำไปใช้ในการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในอนาคต เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอย่างเหมาะสม และยั่งยืน

    

       นายพรชัย คาดว่า จะมีประชาชนผู้มีรายได้น้อยมาร่วมโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ในระหว่างวันที่ 15 ก.ค.-15 ส.ค.นี้ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านราย จากจำนวนผู้รับสวัสดิการของรัฐทั้งหมดในปัจจุบันที่ประมาณ 10 ล้านราย โดยมั่นใจว่า สถาบันการเงิน 3 แห่งที่เปิดรับทะเบียน คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ที่มีสาขาทั่วประเทศร่วมกันกว่า 3,500 สาขา จะรองรับความต้องการลงทะเบียนของประชาชนได้อย่างไม่มีปัญหา       

       ทั้งนี้ การเปิดรับลงทะเบียนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่รัฐบาลจะทำสถิติฐานข้อมูลผู้มีรายได้น้อย เพื่อรับสวัสดิการของรัฐอย่างแท้จริง ทำให้ระบบสวัสดิการในอนาคตของรัฐตรงกับกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น และการใช้งบประมาณ ซึ่งมาจากภาษีของประชาชนมีประสิทธิภาพ เช่น ปัจจุบัน การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพคนชรา ซึ่งในระบบข้อมูลมีกว่า 8 ล้านรายในจำนวนนี้เป็นการจ่ายเบี้ยให้คนชราที่เสียชีวิตไปแล้วเป็นหลักแสนราย ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณไม่ถูกต้อง       

       “การลงทะเบียนครั้งนี้ ไม่ได้มีการเอาข้อมูลไปทำอะไร และจะไม่ปรากฏในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์แน่นอน จะไม่มีใครรู้ว่าผู้ลงทะเบียนมีทรัพย์สิน มีรายได้ หรือหนี้สินอย่างไร ข้อมูลทุกอย่างจะเป็นความลับ โอกาสข้อมูลรั่วไหลจะไม่เกิดขึ้น เพราะฐานข้อมูลทุกอย่างอยู่ที่กรมสรรพากร ซึ่งสามารถตรวจสอบผลการลงทะเบียนบนเว็บไซต์กรมสรรพากรได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.59 เป็นต้นไป”       

       พร้อมกันนี้ ยังระบุว่า ประชาชนจำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ทุกปี โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้ว ในปีต่อไปให้ทำการปรับปรุงข้อมูลได้ด้วยตัวเองผ่านเว็บไซต์ ส่วนกรณีผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนให้ไปลงทะเบียนที่หน่วยงานรับลงทะเบียน       

       “ยอมรับว่า ที่ผ่านมา ข้อมูลยังผิดพลาดไปบ้าง จนทำให้ต้องจ่ายเบี้ยยังชีพให้คนชราที่เสียชีวิตไปแล้วนับแสนคน ปัจจุบันมีผู้รับสวัสดิการจากรัฐบาลประมาณ 10 ล้านคน ทั้งเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด คนพิการ”      

       ทั้งนี้ โครงการนี้ต้องการให้ผู้ลงทะเบียนมาลงทะเบียนด้วยตัวเอง แต่ผู้ลงทะเบียนสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นลงทะเบียนแทนได้ เช่น ผู้สูงอายุเกิน 70 ปี ผู้ป่วย และผู้พิการ    

       โดยวันนี้ นายพรชัย ฐีระเวช โฆษก สศค. พร้อมด้วยผู้บริหาร 3 ธนาคารของรัฐบาล ได้แก่ ธนาคารออมสิน บมจ.ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าวเชิญชวนประชาชนผู้มีรายได้น้อย ลงทะเบียนผ่าน 3 แบงก์รัฐ เพื่อจัดสวัสดิการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในอนาคต      

       นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินพร้อมลงพื้นที่ไปตามตลาด เพื่อบริการกรอกข้อมูลให้กับพ่อค้า แม่ค้า และประชาชน จึงอยากให้เตรียมตัว เพราะเป็นการจัดเก็บข้อมูลของรัฐบาล จากนั้นจะได้นำไปช่วยเหลือในด้านต่างๆ หากรายได้เปลี่ยนแปลงเมื่อแจ้งข้อมูลในช่วงเป็นนักศึกษา และมีงานทำแล้วให้แจ้งเพิ่มเติมเพื่ออัปเดตข้อมูล การลงทะเบียนในครั้งนี้เป็นประโยชน์ต่อตนเองของผู้มีรายได้น้อย     

       นายจิตติ ศุภมลเสนีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายผลิตภัณฑ์บริการจัดการทางการเงิน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธ.กรุงไทย พร้อมใช้ระบบผ่านข้อมูลผ่านบัตรสมาร์ทการ์ดจากบัตรประชาชน เพราะช่วยบันทึกข้อมูลได้ถึงร้อยละ 90 และให้ประชาชนกรอกข้อมูลเพิ่มเติม ผ่านสาขาของกรุงไทย 1,216 สาขาทั่วประเทศ       

       นายวันชัย เจริญชัยมงคล ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการหนี้สินนอกระบบ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ 1,275 รายลงพื้นที่รับลงทะเบียนเพิ่มเติมจากประชาชนผ่านสาขากว่า 3 พันสาขาทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวก จึงต้องการให้เกษตรกรเตรียมพร้อมการลงทะเบียน เพื่อให้รัฐบาลได้จัดสวัสดิการให้ตรงตัวไม่ผิดฝาผิดคน และได้รับประโยชน์ในด้านอื่นเพิ่มเติม  

 

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์