ก่อนอื่นคงต้องแบ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับออกเป็น 3 ส่วนครับ นั่นคือ สิทธิประโยชน์จากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ สิทธิประโยชน์จากการหักรายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นและ สิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีสำหรับประเภทธุรกิจครับ
เริ่มกันที่ตัวแรก คือ สิทธิประโยชน์จากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้กันก่อนเลยครับ มาดูกันดีกว่าว่าแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด. 50 ปี 2559 นี มีอะไรน่าสนใจบ้าง
ถ้าลองสังเกตในรายการที่ 10 ของแบบ ภ.ง.ด. 50 จะเห็นว่า รายได้ส่วนที่ได้รับการยกเว้นภาษีนั้นมีช่องให้กรอกเพียงช่องเดียวสั้นๆ แต่ความเป็นจริงแล้วมีรายการซ่อนอยู่ในนั้นมากมายครับ ซึ่งบทความในตอนนี้จะขออธิบายเพียงแค่รายการบางรายการที่สำคัญเท่านั้น โดยแยกออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้ครับ
1. รายได้เงินปันผลและส่วนแบ่งกำไร ส่วนใหญ่แล้วรายได้ที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีนั้นจะเป็นเรื่องของเงินปันผล ซึ่งมีตั้งแต่เงินปันผลจากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย กิจการร่วมค้าที่ประกอบกิจการในประเทศไทย เงินส่วนแบ่งกำไรกองทุนรวมที่ตัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เงินปันผลจากกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน เงินปันผลและส่วนแบ่งกำไรจากกิจการที่ไม่ได้ประกอบกิจการอื่นนอกจากโรงเรียนเอกชน สถานฝึกอบรม ไปจนถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ
2. รายได้อื่นๆ เช่น รายได้เงินค่าสิทธิ เงินได้ที่ได้จากกองทรัสต์ ค่าสินไหมทดแทน รายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เงินร่วมลงทุน เงินเยียวยา เงินได้ที่ลูกหนี้สถาบันการเงินได้รับจากการปลดหนี้ ฯลฯ สำหรับกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ที่พบเจอกันจริงๆ มักจะเป็นเรื่องของ “เงินปันผล” เป็นหลักครับ ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีนั้นเห็นว่ากิจการมีรายได้ในส่วนนี้เมื่อไร สิ่งที่ควรทำควรตรวจสอบกฎหมายว่าเราได้สิทธิประโยชน์หรือไม่ และมีเงื่อนไขการถือครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือเปล่าครับ
เอาล่ะครับ หลังจากที่รู้จักในส่วนของรายได้กันไปแล้ว เรามาต่อกันในส่วนของรายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่จ่ายจริงกันบ้างครับ
รายจ่ายที่มีสิทธิหักได้เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายที่จ่ายจริง
จากรูปข้างต้น ถ้าหากสังเกตจะเห็นว่ารายจ่ายที่หักได้เพิ่มขึ้นนั้นมีมากกว่ามากมาย นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีต้องตรวจสอบครับว่า รายจ่ายของเรามันเป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือเปล่า โดยในปัจจุบันมีถึง 19 รายการหลัก (และรายการย่อยในกลุ่มอื่นๆ) ซึ่งในปี 2559 นี้มีรายจ่ายใหม่ๆที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นมาดังนี้ครับ
• รายจ่ายค่าจ้างนักศึกษาทำบัญชี สำหรับรายจ่ายตัวนี้เป็นสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มเข้ามา สำหรับรอบบัญชีปี 2559 โดยให้สิทธิคิดค่าใช้จ่า่ยได้เพิ่มขึ้น 100% สำหรับรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจ้างให้กับนักเรียนหรือนักศึกษาที่อยู่ระหว่างศึกษาในแผนกหรือสาขาวิชาการบัญชีตามสถาบันการศึกษาที่ได้รับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ (พระราชกฤษฏีกา 607)
• รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน เป็นรายจ่ายที่จ่ายเพื่อการต่อเติม ลงทุน หรือเปลี่ยนแปลงทรัพย์สิน เพื่อทำให้ดีขึ้นในอัตรา 100% ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 ซึ่งของรอบบัญชีปี 2559 สามารถใช้สิทธิได้สำหรับร่ายจ่ายที่เกิดขึ้นตั้งแต่ 1 มกราคม 2559 (พระราชกฤษฏีกา 604)
• รายจ่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นรายจ่ายเพื่อลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคม ในอัตรา 100% ของรายจ่ายที่จ่ายไป (พระราชกฤษฏีกา 621)
แต่อย่างไรก็ตามสิทธิส่วนใหญ่ที่กิจการมักจะได้ใช้จริงๆ คือ รายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก และรายจ่ายที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาและฝึกอบรมเป็นหลัก เนื่องจากเป็นการพัฒนาพนักงานของกิจการอย่างสม่ำเสมออยู่แล้วครับ แต่ส่วนอื่นนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะมีโอกาสได้ใช้หรือไม่มากกว่าครับ และเช่นเดียวกันกับรายได้ที่ได้รับยกเว้น ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี โดยเฉพาะนักบัญชี มีหน้าที่ตรวจสอบรายการรายจ่ายเหล่านี้ไม่ให้หลุดรอด เพื่อรักษาสิทธิที่บริษัทจะได้รับตามเงื่อนไขทางกฎหมายที่ถูกต้องครับ
แหม่ เขียนไปเขียนมา หน้ากระดาษหมดซะแล้ว เอาล่ะครับ สำหรับบทความประจำเดือนนี้ คงต้องพักไว้แต่เท่านี้ครับ แล้วเดี๋ยวเรามาต่อกันในเดือนหน้า สำหรับเรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านอัตราภาษีสำหรับธุรกิจกันอีกทีหนึ่งครับผม
สุดท้ายนี้ ถ้าท่านผู้อ่านมีคำถามสงสัยใดๆ สามารถส่งข้อความมาที่ Facebook Fanpage TAXBugnoms ได้ตลอดเวลาครับผม แล้วพบกันใหม่ในเดือนหน้า สวัสดีคร้าบ
ภาษี : TAX KNOWLEDGE : บล๊อกภาษีข้างถนน
วารสาร : CPD&ACCOUNT เมษายน 2560