‘กฎหมายกับการตรวจสุขภาพประจำปีของลูกจ้าง’ เรื่องสำคัญอย่าละเลย

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ทุกปีสถานประกอบการต้องจัดเตรียม เรื่องการตรวจสุขภาพ ให้กับพนักงานเพื่อเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากการทำงาน หรือมีปัจจัยเสี่ยงจากงาน ที่อาจทำให้เกิดโรค เพื่อให้ทราบถึงสภาวะสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ของลูกจ้าง เพื่อจะได้ให้การรักษาหรือป้องกันได้ทันท่วงที แล้วอย่างไรถึงจะถูกต้องตามกฎหมายมาดูรายละเอียดกันเลยค่ะ

การตรวจสุขภาพของลูกจ้างมีสาระสำคัญ หลักๆ ดังนี้

1. ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงโดยแพทย์ที่มีคุณสมบัติตามที่อธิบดีประกาศกำหนด โดยตรวจครั้งแรกให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ลูกจ้างเข้าทำงาน และ ตรวจครั้งต่อไปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง ในกรณีที่ลูกจ้างหยุดงาน 3 วันติดต่อกันเนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยให้นายจ้างขอความเห็นแพทย์ หรือจัดให้มีการตรวจสุขภาพ ก่อนให้ลูกจ้างกลับเข้าทำงาน

• ในกรณีสภาพของงานที่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงนั้น มีความจำเป็นต้องตรวจสุขภาพตามระยะเวลาอื่น ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพตามระยะเวลานั้น

• ในกรณีเปลี่ยนลักษณะงานของลูกจ้างที่มีอันตรายแตกต่างจากเดิม ให้นายจ้างจัดให้มีการตรวจสุขภาพของลูกจ้างทุกครั้งให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันเปลี่ยนงาน

2. ในการตรวจสุขภาพดังกล่าวทุกครั้งจักต้องบันทึกรายละเอียดการตรวจเกี่ยวกับผลการตรวจสุขภาพ โดยให้แพทย์ระบุความเห็นที่บ่งบอกถึงสภาวะสุขภาพของลูกจ้างที่มีผลกระทบหรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน และให้นายจ้างเก็บผลการตรวจไว้ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันสิ้นสุดการจ้าง

3. ให้นายจ้างแจ้งผลการตรวจสุขภาพแก่ลูกจ้าง ดังนี้

• กรณีผลตรวจผิดปกติ ให้แจ้งลูกจ้าง ภายในระยะเวลา 3 วันนับแต่ทราบผลการตรวจ

• กรณีผลตรวจปกติ ให้แจ้งลูกจ้าง ภายในระยะเวลา 7 วันนับแต่ทราบผลการตรวจ

• กรณีพบความผิดปกติ หรือลูกจ้างอาจมีอาการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาทันที และทำการตรวจสอบหาสาเหตุของความผิดปกติเพื่อป้องกันต่อไป นอกจากนี้ยังให้นายจ้างจัดส่งผลการตรวจสุขภาพนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนดภายใน 30 วันนับแต่วันที่ทราบ

• เมื่อลูกจ้างสิ้นสุดการจ้างให้นายจ้างมอบสมุดสุขภาพประจำตัวแก่ลูกจ้างผู้นั้นด้วย

อ้างอิง : https://www.rsu.ac.th/legal/File/H/24.pdf