เกิดอะไรขึ้นเมื่อท่านปิดอากรแสตมป์บนตราสารไม่ครบ ?

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

ข่าวสารด้านบัญชีและภาษีอากร

คนส่วนใหญ่มักไม่กังวลปัญหาเรื่องอากรแสตมป์ เพราะในการทำสัญญาบางประเภท เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ หรือการซื้อขายรถยนต์ ก็ต้องถูกบังคับให้ปิดอากรแสตมป์หรือชำระค่าอากรเป็นตัวเงิน เช่น ที่กรมที่ดินหรือกรมการขนส่งทางบก ปัญหาเรื่องอากรแสตมป์ที่เกิดขึ้น มักเป็นเรื่องที่ผู้เสียภาษีไม่เห็นความสำคัญ หรือบางครั้งก็ไม่อยากเสียค่าอากรแสตมป์กันในขณะทำสัญญา และคิดว่าปิดในภายหลังก็ได้ แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็อาจหลงลืมว่าต้องปิดอากรแสตมป์หรือชำระค่าอากร จนกระทั่งเมื่อถูกเจ้าพนักงานสรรพากรเรียกตรวจสอบเอกสารของกิจการ จึงทราบว่ายังมิได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วน เพราะในการตรวจสอบ ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารเกี่ยวกับกิจการให้เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นงบการเงิน ใบกำกับภาษีที่นำมาใช้ในการคำนวณภาษีซื้อ ภาษีขาย แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ แบบแสดงภาษีมูลค่าเพิ่ม แบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ แบบแสดงรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ใบรับต่างๆ สัญญาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ ซึ่งสิ่งที่เจ้าพนักงานสรรพากรมักตรวจพบเจอแต่แรก คือ การลืมปิดอากรแสตมป์ในสัญญา หรือไม่ได้ปิดอากรให้ครบ โดยเจ้าพนักงานสรรพากรจะสั่งให้ท่านปิดอากรหรือชำระค่าอากรให้ครบและเรียกเก็บเงินเพิ่มจากจำนวนอากรที่มิได้ชำระ

โดยปกติแล้ว ในการทำสัญญาใดๆซึ่งกระทำ1 เป็นตราสาร2 หรือเอกสารที่เป็นการผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคลโดยการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ ที่ได้ระบุในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร 28 ลักษณะ ต้องปิดอากรแสตมป์ให้บริบูรณ์ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด3 ซึ่งการเสียอากรแสตมป์ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ 1) การปิดอากรโดยท่านสามารถไปซื้ออากรแสตมป์ได้จากสำนักงานสรรพากรพื้นที่ใดๆ หรือที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นต้น ดังเช่นกรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนด หากสัญญาจ้างทำของมีมูลค่า 10,000 บาท ท่านต้องปิดอากรแสตมป์เป็นจำนวน 10 บาท และ 2) การเสียอากรเป็นตัวเงินซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ตราสารบางประเภทต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน โดยต้องนำตราสารหรือสัญญานั้นไปขอชำระค่าอากรต่อเจ้าพนักงานสรรพากร เช่นกรณีเช่าอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ผู้เช่าต้องชำระค่าอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งค่าเช่าที่กำหนด

 

ดังนั้น หากไม่ปิดอากรให้ครบถ้วนแต่แรกแล้ว บางคนอาจแก้ปัญหาโดยการไปซื้ออากรมาปิดเพิ่มบนตราสารนั้นให้ครบ แต่มีข้อควรระวังว่า เจ้าพนักงานสรรพากรสามารถตรวจลายน้ำของอากรแสตมป์เพื่อตรวจสอบว่าเป็นอากรที่ผลิตขึ้นในปีใดและตรงกับปีที่กระทำตราสารหรือไม่ หากพบว่าเป็นอากรที่ซื้อมาปิดในภายหลังก็ยังคงต้องชำระเงินเพิ่มค่าอากรตามจำนวนที่กำหนดในประมวลรัษฎากรอยู่ดี ทั้งนี้ ตราสารบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าอากรเป็นตัวเงิน ท่านก็ยิ่งไม่มีทางเลี่ยงชำระเงินเพิ่มอากรได้เลย

 

บทลงโทษจากการปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วน มีดังนี้

 

1. กรณีตรวจพบความผิดเอง4

 

หากเป็นกรณียื่นตราสารที่กระทำในประเทศไทยต่อเจ้าพนักงานสรรพากรเพื่อเสียอากรภายใน 15 วันนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน ก็เสียเพียงค่าอากรแสตมป์ตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด และไม่ต้องเสียเงินเพิ่มอากรอีก

 

แต่หากพบว่าไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนเกินกว่า 15 วัน สามารถแยกพิจารณาได้ดังนี้

 

( ก ) กรณีตรวจพบเมื่อพ้น 15 วันนับแต่ไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน ต้องเสียเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าของจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า5

 

ตัวอย่าง กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 2 เท่า = 8 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 8 = 12 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียอากรเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 2 เท่า = 20 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 10 + 20 = 30 บาท

 

( ข ) กรณีตรวจพบเมื่อเกิน 90 วันนับแต่วันที่มีหน้าที่ต้องปิดแสตมป์ให้ครบถ้วน ต้องเสียเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าของจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า 6

 

ตัวอย่าง กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 5 เท่า = 20 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 20 = 24 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 5 เท่า = 50 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 50 + 10 = 60 บาท

 

 2. กรณีบุคคลอื่นตรวจพบความผิด7

 

กรณีนี้แตกต่างจากกรณีแรกตรงที่ผู้มีหน้าที่เสียอากรหรือผู้ทรงตราสารมิได้ขอเสียค่าอากรเอง แต่มีบุคคลอื่นไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานสรรพากร หรือจากการตรวจสอบโดยเจ้าพนักงานสรรพากรหรือนายตรวจเมื่อเห็นว่ามีเหตุสมควร โดยเจ้าพนักงานสรรพากรมีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรนั้นจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสียหรือขาด หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า

 

ตัวอย่างเช่น กรณีสัญญาจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องปิดอากรทุกจำนวน 1,000 บาทหรือเศษของ 1,000 บาทแห่งสินจ้างที่กำหนดไว้เป็นค่าอากร 1 บาท หากสัญญาจ้างทำของ 10,000 ท่านต้องปิดอากร 10 บาท

 

- กรณีที่ปิดอากรไม่ครบ

 

หากท่านปิดอากรเพียง 6 บาท ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ (10 - 6) X 6 เท่า = 24 บาท ( แต่เนื่องจากเงินเพิ่มอากรจำนวน 25 บาทมากกว่า ท่านจึงต้องเสียเงินเพิ่มอากร 25 บาท ) และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 4 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 4 + 25 = 29 บาท

 

- กรณีที่ไม่ปิดอากรเลย

 

หากท่านไม่ปิดอากรเลย ท่านต้องเสียเงินเพิ่มอากร คือ 10 X 6 เท่า = 60 บาท และเมื่อรวมกับค่าอากรที่ต้องเสียให้ครบอีก 10 บาท ท่านจึงต้องเสียค่าอากรและเงินเพิ่มอากรเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 60 + 10 = 70 บาท

 

เมื่อเจ้าพนักงานสรรพากรตรวจพบการปิดอากรที่ไม่ครบถ้วน ท่านต้องถูกเรียกให้ชำระค่าอากรให้ครบอยู่ดี และต้องเสียเงินเพิ่มอากรจากจำนวนที่ท่านปิดไม่ครบ ถือเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุและสิ้นเปลืองกว่าที่ควรจะเป็น เพราะท่านสามารถเลือกปิดให้ครบได้ในตั้งแต่ขณะที่กระทำตราสารแล้ว นอกจากนี้ ผลเสียของการไม่ปิดอากรแสตมป์ให้ครบ คือ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท8 ทั้งยังต้องถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร และผลเสียในทางกฎหมายแพ่ง คือ ในกรณีคู่สัญญาของท่านไม่ปฏิบัติตามสัญญาและท่านประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีบังคับเอากับกับคู่สัญญา ท่านจะนำต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะเสียอากรโดยการปิดแสตมป์จนครบ9 ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่มอากรจากการปิดอากรไม่ครบ ท่านจึงควรปิดอากรให้ครบถ้วนทุกครั้งที่กระทำตราสารทันที แต่หากท่านพลั้งเผลอปิดอากรไม่ครบไปแล้วและอยากแก้ไขให้ถูกต้อง ในตอนหน้าผู้เขียนจะขอกล่าวถึงบทความต่อไปเรื่อง “ทำอย่างไร เมื่อท่านปิดอากรแสตมป์บนตราสารไม่ครบ ?” เพื่อเป็นทางออกในการขอลดเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นต่อไป

 

 

1 “กระทำ” ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

 

2 “ตราสาร” ตามมาตรา 103 แห่งประมวลรัษฎากร หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดอากรแสตมป์

 

3 มาตรา 104 แห่งประมวลรัษฎากร

 

4 ตามมาตรา 113 แห่งประมวลรัษฎากร

 

5 ตามมาตรา 113 2. ( ก ) แห่งประมวลรัษฎากร

 

6 ตามมาตรา 113 2. ( ข ) แห่งประมวลรัษฎากร

 

7 ตามมาตรา 114 แห่งประมวลรัษฎากร

 

8 ตามมาตรา 124 แห่งประมวลรัษฎากร

 

9 ตามมาตรา 118 แห่งประมวลรัษฎากร