การลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตมีเงื่อนไข คือ กรมธรรม์ต้องมีระยะเวลาคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ทำกับบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย ได้รับเงินคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ฯลฯ โดยมีรายละเอียดประกันแต่ละประเภทดังนี้
1. ประกันชีวิตแบบทั่วไป
สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายมาลดหย่อนภาษีได้ทุกปีที่มีการจ่ายเบี้ยประกัน โดยลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายเบี้ยประกันจริงสูงสุด 100,000 บาท ในกรณีทำประกันให้คู่สมรสที่ไม่มีรายได้ สามารถนำเบี้ยประกันที่จ่ายมาลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท
2. ประกันชีวิตแบบคุ้มครองสุขภาพ
สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายเบี้ยประกันจริงสูงสุด 15,000 บาท และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไปต้องไม่เกิน 100,000 บาท
สำหรับปีภาษี 2561 ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ของประกันชีวิตแบบคุ้มครองสุขภาพผ่านบริษัทประกันชีวิตของท่านก่อน ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315)
ขั้นตอนการนำเบี้ยประกันสุขภาพมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษี
1. ผู้เอาประกันภัยแจ้งความประสงค์ขอใช้สิทธิลดหย่อนกับบริษัทประกันชีวิต
2. ยืนยันการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในแบบฟอร์มที่บริษัทประกันชีวิตส่งให้ และส่งข้อมูลกลับไปตามวันที่ระบุไว้ในเอกสาร
3. บริษัทประกันชีวิตจะนำส่งข้อมูลเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ให้สรรพากร ภายในวันที่ 7 ม.ค. ของปีถัดไป โดยผู้เอาประกันภัยไม่ต้องยื่นหลักฐานค่าเบี้ยประกันสุขภาพเวลาที่ยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หากผู้เอาประกันภัยไม่แจ้งความประสงค์หรือไม่ยินยอม ก็จะไม่สามารถนำเบี้ยประกันภัยสุขภาพไปใช้สิทธิขอยกเว้นภาษีได้
3. ประกันชีวิตแบบบำนาญ
สามารถลดหย่อนได้ตามที่จ่ายเบี้ยประกันจริงและไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
ดูประกาศเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rd.go.th/publish/fileadmin/user_upload/kormor/newlaw/dg315.pdf