ทั้งนี้ สาระสำคัญในร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะแก้ไขเพิ่มเติม คือ กำหนดเพดานภาษีใหม่เป็น 4 อัตรา คือ ภาษีที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ภาษีที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย ภาษีที่ดินเพื่อการพาณิชย์ และภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า โดยอัตราเพดานภาษีเรียกเก็บใหม่จะสูง 3-4 เท่า จากอัตราที่คิดว่าจะเรียกเก็บจริง ต่ำลงกว่าที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ที่ 8-9 เท่า ของอัตราภาษีที่คิดจะเก็บจริง
สำหรับอัตราภาษีที่จะเก็บจริงจะต้องไม่ทำให้คนจนและผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงกำหนดให้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากครอบครองที่ดิน 15-20 ไร่ ไม่ต้องเสียภาษี ส่วนบ้านอยู่อาศัย จากเดิมที่พิจารณาว่าจะยกเว้นภาษีมูลค่า 2 ล้านบาทแรก ไม่ต้องเสียภาษี ก็อาจจะต้องลดวงเงินมูลค่าบ้านลงมาเพราะบ้านอยู่อาศัยในต่างจังหวัดที่ดินและบ้านมีราคาต่ำกว่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาตทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เก็บภาษีได้ต่ำเกินไป
นอกจากนี้ ที่ดินและบ้านเพื่ออยู่อาศัยจะพิจารณาลดภาษีจากที่เคยคิดจะเก็บก่อนหน้า เบื้องต้นจะให้ผู้ที่มีบ้านในพื้นที่ 80-100 ตารางวา เสียภาษีใกล้เคียงกับการเสียภาษีป้ายทำเบียนรถยนต์ประจำปีซึ่งถือว่าไม่เป็นภาระที่สูงเกินไป
ขณะที่การเก็บภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่านั้น ต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากในทางปฏิบัติ เนื่องจากมีผู้ที่พยายามหลีกเลี่ยงภาษีโดยการปลูกต้นไม้ เพื่ออ้างว่าเป็นการทำเกษตรกรรม ซึ่งในส่วนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเกณฑ์กำหนดประเภทที่ดินให้ชัดเจน
นายสมหมาย กล่าวว่า การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะให้ อปท.เป็นผู้เก็บภาษี โดยมีรัฐบาลช่วยดูแล ภาษีดังกล่าวจะเก็บแทนภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินเกิมที่ทาง อปท.เก็บได้ปีละ 5-6 หมื่นล้านบาท ถือว่าต่่ำเกินไป ทำให้รัฐบาลใช้เงินงบประมาณอุดหนุนท้องถิ่นละ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจะทำให้ลดภาระของรัฐบาลจะได้อุดหนุนน้อยลงในอนาคต
"คลังจะเสนอการปฏิรูปภาษีทั้งระบบให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.2558 ภาษีตัวต่อไปที่จะต้องดำเนินการคือภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องจัดเก็บให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม"นายสมหมาย กล่าว
ที่มา - หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์